รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สวนเสื้อแดง ยันไทยต่างจากเพื่อนบ้าน ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรต่างประเทศเข้ามา ชี้ประจานตัวเองชัด ระบุชาติแค่สะดุด เตือนเอาเข้ามาแล้วไม่จบง่ายๆ ปัญหาคนไทยต้องแก้กันเอง ไม่วิจารณ์ “สุเทพ” รับร่าง รธน. ด้าน “วิรัตน์” โยนกรรมการบริหารพรรคชี้ขาด รับ กปปส.กลับหรือไม่
วันนี้ (25 เม.ย.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีแกนนำกลุ่ม นปช. ออกมาเรียกร้องให้ คสช.เปิดให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตัวแทนสหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์การระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทยโดยเปรียบเทียบกับประเทศพม่าว่า สถานการณ์ไทยต่างจากพม่าเพราะพม่าหลังรับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลทหารก็เข้ายึดอำนาจเป็นเวลานานกว่า 50 ปี เพิ่งจะกลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย พม่าสามารถปรับตัวหลุดพ้นจากระบบทหารได้ แต่ไทยเดิมเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน และเพิ่งจะสะดุดในช่วง 3 ปีนี้ และขณะนี้เรากำลังจะเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงไม่เห็นความจำเป็นใดที่ไทยต้องเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือยูเอ็น อียูเข้ามา เท่ากับการประจานประเทศเราเองว่าคนในชาติคุยกันไม่ได้ต้องดึงคนต่างชาติมาแทรกแซงกิจการภายในของชาติไทย ทั้งที่เราแค่สะดุดล้มและกำลังจะลุกขึ้นเพื่อเดินต่อ
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของพม่าที่ให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เพราะเขาอยู่กับรัฐบาลทหารมาตลอด การเลือกตั้งหรือทำประชามติใดๆ เขาไม่เคย ไม่มีประสบการณ์ แต่ไทยเราเลือกตั้งมาตามวาระ และประชามติก็เคยทำ มีประสบการณ์แล้วในรัฐธรรมนูญปี 2550 เรารู้ เราเข้าใจ จึงไม่จำเป็นต้องดึงองค์กรต่างชาติหรือคนชาติอื่นเข้ามายุ่งในกิจการภายในของเรา เพราะเมื่อจะเอาเขาเข้ามา ไม่ใช่ว่าจบง่ายๆ มันมีเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ตามมาอีกปัญหาจะไม่จบ ปัญหาในชาติไทยเราคนไทยแก้ไขกันเองได้
ส่วนกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยนั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ว่ากลุ่มใด พรรคการเมืองใดประกาศท่าทีว่าจะรับหรือไม่รับ สนับสนุนหรือไม่ ตนไม่เคยวิจารณ์ความเห็นต่าง เพราะถือเป็นสิทธิของเขาและจะยิ่งสร้างความแตกแยก ขัดแย้งกันอีก จึงถือเป็นดุลพินิจของแต่ละกลุ่มแต่ละพรรค ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์นั้นชัดเจนแล้วในร่างรัฐธรรมนูญที่นายอภิสิทธิ์ระบุไป ส่วนจะรับหรือไม่นั้นเชื่อว่าก่อนถึงเวลาโหวตประชามติ พรรคประชาธิปัตย์จะมีท่าที ซึ่งยังมีเวลา เพราะนายอภิสิทธิ์เรียกร้องว่าขอให้รัฐบาลบอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประชาชนจะได้อะไร คือควรมีตัวเลือกให้ประชาชน
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้มีความเห็นด้วยซึ่งกันและกัน ในการประชุมพรรคเพื่อจะหาข้อยุติแต่ละเรื่อง ทุกคนมีสิทธิ ทุกคนมีเสียง ทุกคนมีความคิดเห็น แต่เมื่อสรุปแล้วเมื่อมีข้อยุติตรงไหนก็ต้องว่าไปตามนั้น ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเห็นด้วยในหลายประเด็น อาจจะเห็นต่างบ้างในบางประเด็น ตนคิดว่าไม่น่ากังวลอะไร
เมื่อถามว่า กลุ่มแกนนำ กปปส.ที่ความเห็นแตกต่างคิดว่าจะกลับมาที่พรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ นายวิรัตน์กล่าวว่า ในตอนนี้มีแค่นายสุเทพเท่านั้นที่ประกาศตัวว่าไม่กลับมาที่พรรคฯ แล้ว ส่วนแกนนำคนอื่นนั้นจะกลับมาหรือไม่กลับก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรคว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเห็นว่าการไปทำหน้าที่เป็นแกนนำ กปปส.เป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างหนึ่ง และไม่ได้ขัดแย้งกับแนวนโยบายพรรค เมื่อรับตรงนี้ไปก็จบ แต่ถ้าเห็นว่าไปทำการเมืองนอกจากระบบของพรรค จะไม่เห็นชอบก็เป็นสิทธิของกรรมการบริหารพรรค