xs
xsm
sm
md
lg

กก.ปฏิรูปผังเมืองตั้งอนุฯ ยกร่าง กม.-กมธ.ปฏิรูปราชการ ชงใช้เทคโนโลยีแก้ไฟป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการผังเมืองและการใช้พื้นที่ สปท. (แฟ้มภาพ)
ปธ.กก.ปฏิรูปผังเมืองฯ แย้มควรมีผัง 6 ระดับ เพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพ จึงตั้งอนุฯ ยกร่าง กม. ด้าน ปธ.กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดินฯ แนะใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาไฟป่า และส่งเสริมหลักให้คนอยู่ร่วมกับป่า

วันนี้ (25 เม.ย.) พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการผังเมืองและการใช้พื้นที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ว่า คณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่าประเทศไทยควรมีผัง 6 ระดับ ได้แก่ ผังประเทศ ผังภาค ผังจังหวัด ผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะระดับนโยบาย และผังพื้นที่พิเศษอื่นๆ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กำหนดให้ภาครัฐต้องจัดทำและบังคับใช้ผังในระดับนโยบายที่มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปผังเมืองของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมาย ตนในฐานะประธานจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. ... ฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีนายธงชัย ลืออดุลย์ สมาชิก สปท. และกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อยกร่างกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด จากนั้นคณะกรรมการฯ จะพิจารณารายละเอียดก่อนเสนอที่ประชุม สปท. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

ขณะที่ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. แถลงภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องสถานการณ์ไฟป่า ผลกระทบ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่า เป็นการประชุมร่วมกับผู้แทนกรรมาธิการ และหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นให้ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างมีระบบ จากการประชุมพบว่าที่ผ่านมามีความพยายามกำหนดมาตรการต่างเพื่อแก้ปัญหาไฟป่า แต่ผลที่ปรากฏคือทรัพยากรป่าไม้ของประเทศถูกทำลายมหาศาลต่อเนื่องมานับสิบปี จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอแนะให้นำระบบเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งด้านการอนุรักษ์พื้นที่ป่า และป้องกันอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น นำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการติดตามจุดเกิดไฟป่ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เสริมสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดการปัญหาไฟป่า และส่งเสริมหลักการให้คนอยู่ร่วมกับป่า โดยให้มีสิ่งจูงใจที่ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อร่วมกันรักษาป่า


กำลังโหลดความคิดเห็น