xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” สงสัยเห็นต่างชี้ข้อเสียแบบ กรธ.ได้หรือไม่ เตือนกติกาไม่ชัดส่อวุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าพรรค ปชป. มอง กม. ประชามติมีข้อสงสัยคำว่า “เผยแพร่ ความคิดเห็น” หากเชิญชาวบ้านถกข้อดี - เสีย รธน. และเห็นต่างบอกข้อเสียแบบ กรธ. ทำได้หรือไม่ ดัก กกต. กติกาไม่ชัดส่อวุ่นวาย

วันนี้ (24 เม.ย.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ว่า เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ. ประชามติ มีข้อควรพิจารณา โดยเฉพาะในมาตรา 7 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และ ไม่ขัดต่อกฎหมาย” ทำให้เกิดคำถามว่า คำว่า “เผยแพร่ ความคิดเห็น” ด้วยวิธีการเชิญชวนชาวบ้านในหมู่บ้านมาถกแถลงแสดงความคิดเห็นร่วมกันถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญจะทำได้ หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น และในมาตรา 10 บัญญัติให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดำเนินการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการจูงใจ ดังนั้น อาจเชื่อได้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็คงไปบอกถึงด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าประชาชนที่เห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญ จะไปบอกถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับกรธ. หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐทำจะได้ หรือไม่อย่างไร

“ขอเรียกร้องให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งรักษาตาม พ.ร.บ. นี้ ออกระเบียบ ประกาศ หรือ คำสั่ง ให้การปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ เป็นไปด้วยความชัดเจน ถ้า กกต. ไม่ออกกติกาให้ชัดเจน อาจเกิดการแจ้งความดำเนินคดีกันมากมาย หรืออาจใช้ช่องว่างของกฎหมายหาทางดำเนินคดีกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับการออกเสียงประชามติโดยรวมในที่สุด” นายองอาจกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น