รองนายกรัฐมนตรี ชี้ตามหลักการไม่ควรเขียนข้อดี-ข้อด้อยร่างรัฐธรรมนูญ อ้างจะชี้นำมากไป โยน กรธ.แจง ไม่ใช่รณรงค์ให้รับหรือไม่ ระบุร่าง พ.ร.บ.โหวตเขียนชัด ห้ามพูดสิ่งที่เท็จ หยาบคาย ยั่วยุ ให้ศาลชี้ขาด ถ้าเชิญให้คนคิดเหมือนตัวเองถือว่าไม่รณรงค์
วันนี้ (13 เม.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีแนวคิดให้จัดทำข้อดีและข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญว่า จะไม่มีการเขียน เพราะไม่มีใครที่กล้าเขียน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะไม่เขียนเรื่องดังกล่าว แต่ให้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กันเอง คงไม่ต้องทำเอกสาร ซึ่งตามหลักการไม่ควรจะเขียนเพราะเป็นการชี้นำมากไป ไม่มีใครได้อะไรจากเรื่องนี้ และใช่ว่าเขียนไปแล้วคนจะเชื่อ
รองนายกฯ ยังกล่าวถึงการชี้แจงทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญว่า กรธ.เป็นคนร่างจึงมีหน้าที่ชี้แจง เพราะไม่มีใครชี้แจงได้เท่า กรธ.โดยในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ กรธ.เป็นผู้ชี้แจง ส่วนคำถามพ่วง ได้กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ชี้แจง แต่ไม่ใช่ไปรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ ส่วนคนอื่นที่ไม่มีหน้าที่ได้มีการเขียนข้อห้ามไว้ในมาตรา 61 ถ้าหลีกเลี่ยงข้อห้าม อาทิ พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความเท็จ ไม่ใช่คำหยาบคาย ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก และเป็นความเห็นของตัวเองทำได้ หากจะให้ยกตัวอย่างว่าเป็นประโยคแบบไหนนั้นตนไม่อยู่ในฐานะที่จะชี้ขาดเรื่องดังกล่าว แม้แต่ กกต.ก็ไม่สามารถชี้ได้เหมือนกัน แต่ต้องให้ศาลเป็นคนชี้ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเขียนไว้ชัดเจนแล้วในมาตรา 61 ส่วนที่สับสนกันอย่างวรรคสองในมาตรา 61 ที่ระบุว่าข้อความที่ส่งทางไลน์ คลิป วิทยุ โทรทัศน์ต้องไม่เป็นความเท็จนั้น ส่วนนี้ที่จะเกิดปัญหา แต่อะไรที่สุจริตใจ ตรงไปตรงมา สามารถทำได้ เพราะในการประชุมร่วมกับ กกต.ได้ยกตัวอย่างถึงขนาดติดเข็ม ติดเหรียญ แสดงธงว่ารับหรือไม่รับ ซึ่งสามารถทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเชิญให้คนคิดเหมือนตัวเองถือเป็นการรณรงค์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คำว่ารณรงค์แปลว่าอะไรตนไม่ทราบ เพราะถูกตัดไปจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนตัวมองว่ามันไม่เป็นการรณรงค์