“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ลุยสนามบินดอนเมืองรอบสอง พบอาหาร-เครื่องดื่มยังแพงเกินมาตรฐาน ขณะที่การท่าฯ อ้างเข้าไปดำเนินการจะกระทบต่อสัญญาการประมูล และต้องทำตามตัวชี้วัด เพื่อสร้างกำไรส่งให้ ก.คลัง ผู้ตรวจฯ ไม่สน สั่งการท่าฯ กับกรมการค้าภายในสำรวจราคาให้สมดุลกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แล้วให้ภายใน 30 วัน หากผู้ประกอบการกระทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ท่าอากาศยานสนามบินดอนเมือง พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ ร่วมกับนายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายสุชาติ สินรัตน์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน และ น.ส.ทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก ประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับราคาอาหาร และเครื่องดื่มที่มีราคาแพงเกินราคาจริงภายในพื้นที่สนามบินดอนเมือง
โดยนายเพ็ชรกล่าวว่า ปัญหาการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มราคาแพงเกิดขึ้นหลายปัจจัย ไม่ใช่เกิดจากการท่าเก็บค่าเช่าพื้นที่ราคาแพง เพราะผู้ประกอบการมาจากการประมูล หากการท่าฯ เข้าไปสั่ง หรือให้มีการลดราคาอาจกระทบต่อสัญญาการประมูล อย่างไรก็ตาม การท่าฯ ก็ได้แก้ปัญหาไม่ให้ผู้ประกอบการขายแพงกว่าห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และควบคุมไม่ให้จำหน่ายในราคาสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายในท้องตลาด ทั้งนี้ การท่าฯ ได้จัดร้านอาหารฟูดคอร์ตเพื่อให้บริการ
นายเพ็ชรยังกล่าวถึงมาตรการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางในช่วงเทศการสงกรานต์ว่า ในวันนี้ (12 เม.ย.) จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 99,000-100,000 คน มีเที่ยวบิน 170 เที่ยวบิน ส่วนในการเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ ในวันที่ 17เม.ย.จะมีผู้โดยสาร 110,000 คน มีเที่ยวบิน 175 เที่ยวบิน โดยสัดส่วนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ การท่าฯ ได้เตรียมบริการแท็กซี่ที่จะมาให้บริการผู้โดยสาร โดยประสานไปยังกรมการขนส่งทางบก สหกรณ์แท็กซี่ 13 แห่ง และ จส.100 ถึงความต้องการในชั่วโมงปกติ 700 คัน ชั่วโมงเร่งด่วน 1,000 คัน จึงขอให้ผู้ขับแท็กซี่จากด้านนอกวนเข้ามารับผู้โดยสารภายในอาคารสนามบิน ทั้งนี้ ได้ประสานตำรวจท่องเที่ยว สน.ดอนเมือง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ตรวจสอบภายในบริเวณสนามบินอย่างเข้มงวด
จากนั้นเวลา 10.45 น. คณะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าภายในอาคารผู้โดยสาร พบว่าผู้ประกอบการหลายร้านหลีกเลี่ยงไม่จำหน่ายน้ำดื่มซึ่งเป็นสินค้าควบคุม แต่เลี่ยงไปจำหน่ายน้ำแร่ในราคาขวดละ 20-40 บาท เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำเกลือแร่ก็ราคาสูงกว่าราคาภายนอกเป็นเท่าตัว แต่ก็มีบางร้านขายในราคา 10 บาท แต่ร้านค้าของโครงการหลวงซึ่งได้รับการยกเว้นค่าเช่าจึงขายสินค้าในราคาปกติ น้ำดื่มราคา 10 บาท สลัดผัก 45 บาท ทำให้มีผู้โดยสารมาเลือกซื้อน้ำดื่มจนหมดสต๊อกทำให้ไม่เพียงพอ
จากการตรวจสอบราคาอาหารในฟูดคอร์ตตามที่ท่าอากาศยานฯ ระบุว่าในสัญญาประมูลควบคุมราคาขายไม่ให้เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ปรากฏว่ายังมีราคาอาหารแพง เช่น ข้าวราดแกง เริ่มต้นที่ 80-120 บาท, ข้าวมันไก่ 90 บาท, แซนด์วิช 180 บาท, ชุดมาม่าผัดทะเลพร้อมเครื่องดื่ม 165 บาท, สเต๊ก 195 บาท, บะหมี่เป็ดย่าง 80 บาท, ข้าวหน้าไก่ 80 บาท โดยผู้ประกอบการบางรายระบุว่า พนักงานต้องสามารถพูดภาษาอังกฤษและจีนได้ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าภายนอก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าน้ำดื่มที่มีราคาแพง และข้าวที่มีราคาสูงกว่า 200 บาทต่อจาน แต่ภายในสนามบินมีร้านค้าหลากหลายให้เลือก บางร้านมีราคาสูงกว่าภายนอกแค่ 5 บาท ผู้โดยสารสามารถเลือกร้านได้
พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า หลังจากได้กระชุมร่วมกันและขอให้การท่าฯ ควบคุมราคาอาหารให้เหลือจานละ 50 บาท และน้ำดื่ม 10 บาท ทำให้ร้านค่างดจำหน่ายเครื่องดื่ม และยังพบว่ามีราคาแพงจึงได้ขอสรุปร่วมกัน โดยให้การท่าฯ ไปศึกษาแนวทางที่จะแก้ปัญหา ขณะที่การท่าฯ ระบุว่าการแก้ปัญหาอาจจะกระทบต่อสัญญาประมูล แต่ผู้ตรวจการพิจารณาแล้วเห็นว่าการท่าฯ มีรายได้หลักจากกิจการการบิน ส่วนค่าเช่าร้านอาหารไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินจึงสมควรปรับราคาจำหน่ายให้เท่ากับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จึงมอบหมายให้การท่าฯ สำรวจราคาภายในห้างสรรพสินค้ารวมกับกรมการค้าภายในเพื่อให้มีมาตราฐานราคากลางภายใน 30 วัน เพื่อนำมาดำเนินการต่อร้านค้าไม่ให้ขายอาหารสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาในห้าง เป้าหมายคือทำให้ราคาอาหารเท่ากันหรือใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้า เช่น Burger king ถ้าในห้างราคา 209 บาท ถ้าขายในปั๊มน้ำมันราคา 199 บาท แต่ในสนามบินขายราคา 285 บาท น้ำอัดลมกระป๋องขายราคา 50 บาท ซึ่งน่าจะสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
พล.อ.วิทวัสกล่าวอีกว่า การท่าฯ และกรมการค้าภายในต้องเข้ามาดำเนินการต่อผู้ประกอบการที่ไม่ให้ความร่วมมือ สำหรับข้ออ้างของการท่าฯ ที่ระบุว่าต้องดำเนินการตามตัวชี้วัด เพื่อสร้างผลกำไรส่งให้กระทรวงการคลัง ผู้ตรวจฯ จะรับเรื่องนี้เพื่อตรวจสอบ และขอดูรายละเอียดทั้งหมด โดยพบว่าราคาอาหารและเครื่องดื่มสูงกว่าห้างสรรพสินค้า 40-200 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องการให้มีความสมดุลระหว่างตัวชี้วัดเรื่องกำไรกับความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้าไปตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มสูงกว่าราคาที่กำหนดหรือไม่