ลาแล้ว “มาร์ก เคนต์” พ้นตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย สิ้นเดือนเมษายนนี้ ผู้เคยโพสต์ผ่านสังคมออนไลน์ จน “บัวแก้ว-คสช.” ไม่สบายใจ เผย “ไบรอัน เดวิดสัน” กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เตรียมรับตำแหน่งกลางปีนี้
วันนี้ (12 เม.ย.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา นายมาร์ก เคนต์ (H.E. Mr. Mark Kent) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสครบวาระดำรงตำแหน่งในประเทศไทย
โดยนายมาร์ก เคนต์ ได้เริ่มทำงานในฐานะเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม 2555 จนถึงเดือนเมษายน 2559 และยังสามารถพูดภาษา อื่นๆ ได้ถึง 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย เวียดนาม สเปน ดัตช์ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส
ขณะผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อ คือ นายไบรอัน เดวิดสัน กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ หลังจากที่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเข้ามาประจำตำแหน่งที่ประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559 ที่จะถึงนี้
มีรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ที่สถานทูตอังกฤษ กรุงเทพมหานคร ได้จัดงานเลี้ยงอำลา นายมาร์ก เคนต์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ที่กำลังจะหมดวาระเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 โดยมีผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ แต่ไม่มีตัวแทนจาก คสช.เข้าร่วม
ขณะที่นายมาร์กกล่าวในงานวันนั้นตอนหนึ่งว่า “หลังจากทำงานมาเกือบ 4 ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องขึ้นมากล่าวอำลา ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานมาโดยตลอด เชื่อว่าหลังจากนี้จะคิดถึงประเทศไทยมากแน่นอน ก่อนจะเดินทางกลับไปที่ประเทศอังกฤษในวันที่ 28 เมษายนนี้ และจะเดินทางไปยังประเทศอาร์เจนตินา ผมโชคดีที่ได้มาอยู่ในประเทศที่สวยงาม อาหารอร่อย ผู้คนน่ารัก คงเป็นเรื่องเสียใจที่จะต้องลาจากที่นี่ไป แต่จะใช้คำว่าเป็นการลาจากอย่างสมบูรณ์ก็ไม่ใช่ เพราะทุกวันนี้เรามีโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ทำให้สามารถยังติดต่อกันได้อยู่ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตทุกคนที่ช่วยกันดำเนินงานอย่างยอดเยี่ยมมาตลอด จากนี้นายพอล บรูท จะทำหน้าที่รักษาการจนกว่านายไบรอัน เดวิดสันจะเดินทางมารับตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ กำลังศึกษาภาษาไทยอย่างต่อเนื่องและเริ่มพูดภาษาไทยได้ดีขึ้นมากแล้ว ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน และขอให้โชคดี”
มีรายงานว่า สำหรับนายมาร์ก เคนต์ เมื่อ 27 ส.ค. 2557 เคยเขียนในบล็อกส่วนตัวเผยแพร่ในเว็บไซต์ blogs.fco.gov.uk/ แสดงความเห็นต่อ 5 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ
ประเด็นแรก สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเคนต์ระบุว่า ตนเทิดทูนทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และตระหนักถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ความจงรักภักดีไม่ได้เกิดจากการใช้กฎหมายบังคับ โดยในอังกฤษคนที่ไม่นิยมสถาบันมหากษัตริย์ก็มีจำนวนไม่น้อย แต่คนเหล่านั้นก็ได้รับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ตนเชื่อในการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลือกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย ทั้งสองอยู่ด้วยกันได้อย่างดี
ประเด็นที่ 2 เคนต์ได้ยกถึงคำพูดของนายอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวไว้ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” และคำพูดของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล อดีตผู้นำอังกฤษ ที่กล่าวว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่แย่ที่สุด ถ้าไม่นับระบบอื่นทั้งหมดที่ได้ลองกันมา นอกจากนั้น ประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกก็แตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมก็คือ รัฐบาลเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงแห่งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ประเด็นที่ 3 เคนต์เห็นว่าทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งควรนำไปใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และยกคำพูดของที่ว่า “อำนาจมักทำให้เกิดการฉ้อโกง และอำนาจเบ็ดเสร็จก็ทำให้เกิดการฉ้อโกงอย่างเบ็ดเสร็จ (Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely) ”
ประเด็นที่ 4 เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรคนปัจจุบันกล่าวถึงความเสมอภาคของโอกาสในสังคม และ ประเด็นที่ 5 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของสังคม
อนึ่ง มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแสดงความเห็นของมาร์ก เคนต์ ซึ่งระบุว่าเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว น่าจะเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้เข้าควบคุมอำนาจในการบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมไปถึงการต่อสู้ทางความคิดระหว่างประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย กับระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ด้วย
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 เขาเคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ @KentBKK โดยเป็นการรีทวีตเหตุการณ์ทหารจับกุมนักศึกษาที่เดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ พร้อมระบุว่า “I had hoped the fact 200 people allowed to demonstrate at the US Embassy, might be relaxation on freedom of assembly” ซึ่งแปลว่า "ผมเคยหวังไว้ว่าการที่รัฐบาลอนุญาตให้มีการชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ถึง 200 คนนั้น อาจแสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายมาตการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเสียอีก”
กรณีนี้ นายมาร์ก เคนต์ ออกมาระบุว่าเนื้อหาในการแสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ของตนนั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว จึงคงไม่ต้องมีการอธิบายความใดเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการต่างประเทศจะเชิญตนเข้าไปพูดคุยด้วยนั้นถือเป็นการตัดสินใจของทางการไทย โดยตนมีความพร้อมที่จะพูดคุยด้วยอยู่แล้ว
ทั้งนี้ยังเคยเชิญฝ่ายการเมืองเข้าไปพูดคุยถึงสถานการณ์การเมือง เช่น จากกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน เคยโพสต์ข้อความว่า ฯพณฯ เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย นายมาร์ก เคนต์ ได้เชิญไปร่วมรับประทานข้าวกลางวันที่สถานทูตอังกฤษ เพื่อสนทนาทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทย และแนวนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศในอนาคตของพรรคเพื่อไทย ตลอดจนความร่วมมือของประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรในอนาคต เป็นต้น
โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน ปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ประกาศแต่งตั้ง นายไบรอัน จอนห์ เดวิดสัน (Mr.Brian John Davidson) อายุ 51 ปี เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน 2559 หรือปีหน้า แทนนายมาร์ก เคนต์ (Mark Kent) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยคนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในปีหน้า
การแต่งตั้งนายไบรอัน จอนห์ เดวิดสัน หรือชื่อจีนว่า (ชื่อจีน 戴偉紳(ไต้ เหว่ย-เซิน) เข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ สร้างความสนใจไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นบุคคลหนึ่งที่เปิดเผยชีวิตสมรสทางเลือก ที่เรียกกันว่า Alternative Family จากการเป็นคนรักเพศเดียวกัน และจดทะเบียนสมรสกับเพศเดียวกัน โดยนายไบรอันมีคู่สมรสชื่อ Scott Kelly หรือชื่อจีนว่า Chang (จาง จื้อ-หู 張志鵠) วัย 34 ปี โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ 7 กันยายน 2556 หรือปีที่แล้ว ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงปักกิ่ง
ก่อนหน้านี้ นายไบรอันดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ เคยประจำการอยู่เมืองกวางโจวมาก่อน มีความสามารถในการพูดภาษาจีนเป็นอย่างดี และกำลังเข้าคอร์สเรียนภาษาไทยอย่างจริงจังก่อนเข้ามารับตำแหน่งอีกไม่นานนี้ นับว่าเป็นชาวเอเชียอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยความสามารถ และเชื่อมั่นในความเสมอภาคทางเพศ อีกทั้งยังกล้าเปิดเผยชีวิตสมรสต่อสาธารณะถึงชีวิตคู่ทางเลือก ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวรับกับกฎหมายใหม่ที่มีการทยอยใช้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ทุกเพศสามารถมีสิทธิในการสร้างครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกัน