นายกฯ เห็นชอบตั้ง 3 คณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และ ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายของรัฐบาล ด้านสำนักงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ตราสัญลักษณ์งานฯ
วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ ดังนี้ 1. คณะกรรมการฝ่ายพิธีการเฉลิมพระเกียรติฯ มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ยุทธศาสตร์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และภาพลักษณ์ของประเทศ สำหรับชื่อการจัดงาน กำหนดเขตการจัดงาน และตราสัญลักษณ์การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ที่สำนักราชเลขาธิการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ในโอกาสนี้จึงขอความร่วมมือจากส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมประดับธงตราสัญลักษณ์ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2560 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมศาสนพิธี และรัฐพิธี โครงการบรรพชาอุปสมบท 770 รูป เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. - 12 มิ.ย. 2559 พิธีถวายพระพรและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 9 มิ.ย. 2559 พร้อมกันทั่วประเทศ ประกอบด้วย พิธีตักบาตรสมเด็จพระราชาคณะ/พระราชาคณะ และพระสงฆ์ในโครงการ 770 รูป ในเวลา 07.00 น. และเวลา 09.09 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีสวดถวายพระพรโดยผู้นำศาสนาทุกศาสนา พิธีเจริญจิตภาวนา และถวายพระพรในภาคประชาชนชาวไทยทั่วโลก
พล.ต.อ.เอกกล่าวต่อว่า กิจกรรมการจัดสร้างถาวรวัตถุน้อมเกล้าฯถวาย ประกอบด้วย การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2559 โครงการ “ปลูกไทย...ในแบบพ่อ” เพื่อปลูกจิตสำนึกและปูรากฐานให้เยาวชนมีความจงรักภักดี ความกตัญญู และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ น้อมนำแนวทางที่ทรงสอน ไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต สร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติอย่างยั่งยืน ได้แก่ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสัญจร “บัวบาทยาตรา” 5 ภาคของประเทศไทย เพื่อเผยแพร่การทรงงานในด้านต่างๆ ใน 7 ทศวรรษ และผลแห่งความสุขของประชาชน โดยน้อมนำพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท เป็นแนวคิดหลักในการนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ โดยภาคกลาง มีพิธีเปิดงาน ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในเดือน ก.ค. 59 ภาคใต้จัดที่ จ.สงขลา ภาคตะวันออกจัดที่ จ.ชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่ จ.สกลนคร และภาคเหนือจัดที่ จ.เชียงใหม่ การจัดทำภาพยนตร์สั้น “ค่าของแผ่นดิน Pride and Dignity of Thais” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตั้งมั่นในคุณความดี 7 ประการ คือ ความมีน้ำใจ ความเสียสละกล้าหาญ ความเพียร ความอดทน ความรักความสามัคคี ความมุ่งมั่น ความซื่อสัตย์ จากชีวิตจริงของบุคคลต้นแบบผ่านภาพยนตร์หลายสาขาอาชีพ กำหนดฉายตอนแรกในเดือน พ.ย. 2559 ทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ละครเวที “เสียงแห่งความจงรักภักดี Sounds of Love” เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ได้ศึกษาค้นคว้า และเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจากมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ในวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2559 ณ โรงละครสนามเสือป่า สำนักพระราชวัง กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โครงการเยาวชนอาเซียนเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท ของเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศละ 7 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน มาศึกษา เรียนรู้ ดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศไทย โดยมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ในเดือน ต.ค. 2559
พล.ต.อ.เอกกล่าวอีกว่า 2. คณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการ บูรณาการงานในภารกิจด้านการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติของกระทรวงต่างๆ ร่วมกับภาคเอกชนและประชาชน โดยมีหน้าที่กำหนดแนวทางการจัดกิจกรรม พิจารณาอนุมัติเป็นโครงการ กลั่นกรองการใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับโครงการ นำเสนอคณะกรรมการอำนวยการ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยจัดทำโครงการ กิจกรรม ตลอดจนกำกับดูแล และบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ และคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีแนวทางการจัดกิจกรรม คือ “พอเพียง สมพระเกียรติ สร้างความจงรักภักดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” โดยมีโครงการที่เห็นสมควรเป็นโครงการ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ โครงการรามายณะอาเซียน โดย กระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โครงการใต้ร่วมพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และมหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน โครงการ : 70 เส้นทางตามรอยพระบาท โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ : 84 Perspectives : Thailand through Women’s Eyes โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ชุดจากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า 3. คณะกรรมการบูรณาการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายของรัฐบาล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการบูรณาการการดำเนินงานด้านการขุดลอกคูคลองของกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาด ไทย และกระทรวงอื่นๆ ร่วมกับภาคเอกชนและประชาชน โดยได้นำกิจกรรมขุดลอกคูคลองทั่วประเทศ ตามมติ ครม.มาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และอย่างสมพระเกียรติ โดยได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริในเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาดำเนินการในรูปแบบประชารัฐให้เกิดความยั่งยืน มอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ทำการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ กำหนดการจัดกิจกรรมในห้วงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.ซึ่งเป็นห้วงเวลาการเฉลิมฉลองครองราชย์ ๗๐ ปี
กำหนดพิธีเปิดกิจกรรมพร้อมกัน 4 พื้นที่ ดังนี้ พื้นที่กองทัพภาคที่ 1 อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พื้นที่กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พื้นที่กองทัพภาคที่ 3 อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 อ.วังพญา จ.ยะลา สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมทั้ง 4 พื้นที่ ได้แก่ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติโดยนำโครงการพระราชดำริฯ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการน้ำ การปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น มานำเสนอ โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคอดีต การแก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ยุคการต่อสู้กับปัญหาความยากจน และยุคปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาประเทศสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ซึ่งได้นำแนวทางการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และอื่น ๆ รวมทั้งป้องกันการเกิดภัยพิบัติ ทั้งในเรื่อง อุทกภัย และภัยแล้ง เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในพระอัจฉิยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การปล่อยปลาในพื้นที่โครงการ การตรวจและรักษาพยาบาลประชาชนในพื้นที่ การจำหน่วยสินค้าราคาถูก บริการตัดผม รวมทั้งกิจกรรมการแสดงดนตรี หรือให้ความรู้ต่าง ๆ แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม โอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมใจกันร่วมกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกัน
ด้านสำนักงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ แบบที่ 2 ที่ใช้สำหรับงานดังกล่าว โดยรูปแบบอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพขอบริมอักษรสีทองบนพื้นสีขาบเข้ม (น้ำเงินแก่) เป็นสีประจำสถาบันพระกษัตริย์ภายในกรอบลายทอง ปนนากมีลายเนื่องสีทองมากกว่า 70 ดวง เป็นการถวายพระพรให้ทรงสถิตดำรงในสิริราชสมบัติมากกว่าที่ 70 ให้สถาพรโดยสวัสดีเป็นอเนกอนันต์ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.และกรอบลายทองปนนากนี้สถิตอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบอุณาโลมสีทอง แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้จามรีอยู่เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขามอยู่เบื้องขวา มีฉลองพระบาททอดอยู่ที่ปลายพระแสง และธารพระกรนั้นเบื้องล่างรวมเรียกกว่าเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นนิมิตหมายแห่งการฉลองสิริราชสมบัติล่างลงมาเป็นแพรแถบสีหงขาด (ชมพู) ขลิบทอง เขียนอักษรสีทองความว่าฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ปลายแพรแถบด้านซ้ายระบุ พ.ศ. 2489 อันเป็นปีที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ปลายแพรแถบด้านขวาระบุ พ.ศ. 2559 แสดงกาลเวลาที่ล่วงมา 70 ปี ตราบจนปัจจุบัน