xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ฉะคมนาคมจัดระเบียบไม่ตรงจุด ออกประกาศคุมวินมอเตอร์ไซค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ (แฟ้มภาพ
“หัวหน้าพรรคคนไทย” เซ็ง คสช.ไม่สนข้อท้วงติงร่าง รธน. ขอลุยวิพากษ์เฉพาะงานรัฐบาล ประเดิมสวด “คมนาคม” ออกประกาศคุมวินมอเตอร์ไซค์ ชี้จัดระเบียบไม่ตรงจุด กำหนดค่าโดยสารไม่สอดคล้องต้นทุน เพิ่มภาระค่าครองชีพคนหาเช้ากินค่ำ แนะ “บิ๊กตู่” เลิกใช้คนขยันแต่คิดตื้นเสียที

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หลายฝ่ายก็พยายามเสนอแนะท้วงติงในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง และการร่างรัฐธรรมนูญมาพอสมควร แต่ก็ปรากฏชัดว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เคยคิดที่จะรับฟังเสียงท้วงติงจากทุกฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้หากร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วสร้างความขัดแย้ง หรือสร้างความเสียหายใดๆ คสช.และผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งนี้ ตนจะขอใช้สิทธิในฐานะคนไทยคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะในเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียว

นายอุเทน กล่าวต่อไปถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคม ได้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ว่าด้วยการควบคุมอัตราค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงฯ ปี 2548 ให้เหมาะสม และเป็นธรรมมากขึ้นว่า หากรัฐบาลคิดเช่นนั้นก็ควรคำนึงถึงสาธารณประโยชน์ที่สูงสุดมากกว่านี้ สิ่งที่รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม พยายามทำนั้นไม่ใช่แนวทางจัดระเบียบที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการสร้างปัญหา และเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน ไม่สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันในขณะนี้ อีกทั้งยังส่งเสริมอาชีพมอเตอร์ไซค์วินในทางที่ผิด เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงควรให้บริการได้เฉพาะตามตรอกซอกซอย ที่มีข้อจำกัดรถขนส่งสาธารณะอื่นๆ และหากต้องการจัดระเบียบจริงควรกำหนดไม่ให้มอเตอร์ไซค์วินออกมาวิ่งตามถนนใหญ่มากกว่า

“ด้วยความปรารถนาดี อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ทบทวนการเลือกใช้คน นำคนที่คิดได้ทำเป็นเข้ามาทำงาน ดีกว่าใช้คนประเภทที่ขยันแต่คิดไม่เป็น ทำแต่เรื่องไร้สาระอยู่แบบนี้”

นายอุเทน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญการกำหนดอัตราค่าโดยสารระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) แรกต้องไม่เกิน 25 บาท และ กม.ต่อไปสามารถเก็บเพิ่มไม่เกิน กม.ละ 5 บาท หากเกิน 5 กม.จนถึง 15 กม.ให้คิดค่าโดยสารเพิ่มได้อีกไม่เกิน กม.ละ 10 บาทนั้น แสดงว่าหากเก็บตามอัตราสูงสุดที่กระทรวงคมนาคมกำหนดก็ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าผู้โดยสารจะเดินทาง 15 กม. ต้องเสียเงินสูงถึง 140 บาท ซึ่งไม่ได้ยึดโยงต่อต้นทุนของวินมอเตอร์ไซค์ที่แท้จริง อีกทั้งยังเป็นอัตราเดียวกับประกาศฯ ฉบับปี 2548 ถามว่า เวลานั้นกับเวลานี้ราคาน้ำมันแตกต่างกันหรือไม่ และในปัจจุบันราคาน้ำมันถูกลงมาก ต้นทุนของรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ก็ควรจะถูกลงเช่นกัน แต่ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมกลับควบคุมไม่ได้เลย

“คนเป็นรัฐมนตรีต้องมองปัญหาให้รอบด้าน ต้องรู้ว่าน้ำมัน 1 ลิตรสำหรับมอเตอร์ไซค์วิ่งระยะทางได้ไกลแค่ไหน น้ำมันถูก ต้นทุนก็ยิ่งต่ำลง ถ้ากำหนดแบบนี้ต้นทุนที่ถูกลงก็ถูกเหมารวมเป็นค่าแรงของผู้ขับขี่เช่นนั้น ซึ่งไม่สอดคล้องต่อต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ภาระตกไปอยู่ที่ผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนหาเช้ากินค่ำ”


กำลังโหลดความคิดเห็น