รองหัวหน้า ปชป.มอง กรธ.ไม่ได้พบกันครึ่งทางแต่เบี่ยงแรงปะทะ คสช. ยังคงจุดยืนระดับหนึ่ง ยังให้พรรคเสนอชื่อนายกฯ ไม่ได้ค่อยเลือกคนนอก ไม่ระบุ 6 ขรก.นั่งวุฒิฯ เป็นผู้นำเหล่าทัพ ส.ว.250 คน คสช.คงเลือกอยู่ดี แต่คงจุดยืนไม่ให้ซักฟอก ฝากให้ ปชช.มีส่วนร่วมการได้มา ส.ว.มากขึ้น เสียดายคงเลือกตั้งใบเดียว วอนทบทวน รอดูท่าที คสช.เสนอต่อหรือไม่
วันนี้ (23 มี.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้เป็นการพบกันครึ่งทาง แต่เป็นความพยายามหาทางเบี่ยงเลี่ยงแรงปะทะกับ คสช.โดยตรง โดยยังคงจุดยืนของ กรธ.ไว้ระดับหนึ่งดังนี้ 1. กรณีการเลือกนายกรัฐมนตรี กรธ.ยังยืนยันหลักการที่ให้พรรคการเมือง เสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี 3 ชื่อเหมือนเดิม แต่หากสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ จากชื่อที่เสนอไม่ได้ กรธ.ก็หาทางเบี่ยงเลี่ยงด้วยการออกแบบกลไกให้มีนายกฯ คนนอกได้ตามที่ คสช.ต้องการ เมื่อเป็นดังนี้ โอกาสที่จะมีนายกฯ คนนอกก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้น
2. ที่มาของ ส.ว.สรรหา กรธ.ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้นำเหล่าทัพ 6 ตำแหน่งมานั่งเป็น ส.ว.เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ระบุ 6 ตำแหน่งโดยตรง โดยหาทางเบี่ยงเลี่ยงว่าให้ข้าราชการประจำเข้ามาได้ไม่เกิน 6 คนแน่นอนที่สุด โอกาสที่ผู้นำเหล่าทัพยังเข้ามาเป็น ส.ว.ตามช่องทางนี้ยังมีอยู่เหมือนเดิม ส่วน ส.ว.สรรหา 250 คนก็เอาตามที่ คสช.เสนอ คือ มีกรรมการ 8-10 คน เลือก 200 คน ส่วนอีก 50 คน กรธ.ขอเอาตามแบบที่ กรธ.เคยเสนอไว้ แต่สุดท้ายก็ยังต้องไปให้กรรมการที่ คสช.แต่งตั้งมาเลือกอีก 50 คนอยู่ดี เท่ากับว่า คสช.ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำคลอด ส.ว.สรรหา 250 คน ส่วนที่ไม่ให้ ส.ว.สรรหามีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ถือว่าเหมาะสมที่ กรธ.รักษาจุดยืนไว้ อย่างไรก็ดี อยากให้ กรธ.ทบทวนอีกครั้งว่าจะให้กลไกใดที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมของการได้มาซึ่ง ส.ว.มากขึ้น
3. การยืนยันให้ใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมด้วยการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย กรธ.ยืนยันแบบเดิมซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิแสดงเจตนารมณ์อย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น อยากฝากให้ กรธ.ได้ทบทวนเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี การพิจารณาของ กรธ.ครั้งนี้ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อยุติ เพราะ คสช.อาจมีข้อเสนอใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือยังยืนยันข้อเสนอเดิมๆ ที่ กรธ.ไม่ยอมพิจารณาให้ เช่น อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาให้ กรธ.พิจารณาอีกครั้งก็ได้ เพราะการที่ คสช.กำหนด ส.ว.สรรหา 250 คนได้ และมีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยน่าจะเป็นความต้องการของ คสช.มากกว่า จึงต้องติดตามต่อไปว่า คสช.จะมีท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายคงต้องไปดูว่า กรธ.จะเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญออกมาแบบไหนอย่างไรในวันที่ 29 มี.ค.นี้ หวังว่า กรธ.จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมอย่างแท้จริงและได้รับการยอมรับจากประชาชน