xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"วอนเลิกระแวงสืบทอดอำนาจ ยัน"ตู่-ป้อม"ไม่เป็นนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นข้อเสนอของคสช. ในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการให้อำนาจส.ว.สรรหา ว่า ส.ว.สรรหาจะไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ ไม่มีอำนาจที่จะเลือกนายกฯ มีแค่อำนาจปกติในแง่กฎหมาย เพื่อการปฏิรูป และการปฏิบัติเป็นให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เท่านั้น ไม่ได้มีนัยยะอะไรเลย
ส่วนที่เสนอที่ให้ ส.ว.สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้นั้น ก็ยังไม่รู้ ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ยังไม่อยากพูดก่อน
"ยืนยันว่าส.ว.ไม่ไเมีอำนาจคุมฝ่ายบริหาร เพราะอำนาจฝ่ายบริหาร กับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องแยกกันเด็ดขาด และต้องเป็นตามหลักการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างตรวจสอบกัน"
พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยว่า ไม่กังวลว่าข้อเสนอเรื่อง ส.ว.สรรหา จะเป็นสาเหตุทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านประชามติ และเชื่อว่าทางกรธ. จะไม่ถอดใจ เพราะถ้าพวกเขาถอดใจ ออกไปก็ตายสิ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาโจมตีข้อเสนอคสช.ที่ส่งไปยัง กรธ. ก็เพื่อการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากเปิดช่องให้คนนอก สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ว่า ตนได้รับการยืนยันจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แล้วว่า ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะไม่ใช่ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ ตัวนายกฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคสช. ที่ให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้อำนาจ ส.ว.ในการลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจ และการไปรับบทการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หรือปรับระบบเลือกตั้ง ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า เบี้ยหัวแตก ซึ่งขัดกับการเดินหน้าของประเทศ และขัดกับระบบหลักที่กรธ.วางไว้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดี ทำให้เกิดความขัดแย้ง เป็นสภาพการเมืองที่เป็นการต่อรองกัน ระหว่างนักการเมือง กับกลุ่มผู้มีอำนาจ
ส่วนโครงสร้างของส.ว.สรรหา ที่ให้ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นข้าราชการประจำ เข้ามาอยู่ด้วย 6 คน นั้น ถือว่าขัดหลักประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และทำให้เกิดความสับสนในระบบ ไม่เข้าใจว่าให้บุคคล 6 คน เข้ามาอยู่ในสภาฯ ซึ่งมีจำนวน 250 คน จะทำให้เกิดความแตกต่างอะไร นอกเสียจากกลายเป็นว่า คนเหล่านี้จะสามารถมาคุมเสียงอีก 200 กว่าเสียงได้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสน ข้อเท็จจริง คือ คนเหล่านี้ซึ่งมีความรับผิดชอบด้านความมั่นคง เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทั้งกองทัพ และตำรวจทั้งประเทศอยู่แล้ว หากกังวลว่าจะทำงานไม่ได้ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง ก็ควรทำการปฏิรูประบบไม่ถูกแทรกแซง ไม่ใช่การมาเขียนบทเฉพาะกาล ให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาถาวร และเป็นการให้อำนาจซ้อนอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ที่กรธ.ต้องคิดให้มากคือ การยอมรับจากประชาชนมากกกว่าที่จะต้องไปเกรงใจใคร หากทำระบบให้เกิดความสับสน ไม่สามารถสลัดข้อหาการสืบทอดอำนาจ และความหวาดระแวงได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ ความขัดแย้ง ในที่สุดตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งสิ่งต่างๆที่ คสช. พยายามทำมาด้วย
"ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็เป็นหน้าที่ของคสช.ที่จะต้องจัดให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ความกังวลของผมคือ ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามติ จะมีคนที่ไม่พอใจออกมาโต้แย้ง สุดท้ายก็จะนำมาสู่การขอแก้ไข แต่ถ้าทำให้แก้ไขยาก ก็จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลายออกไปสู่กระบวนการอื่น สุดท้ายรัฐธรรมนูญ จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น