“เรืองไกร” ร้องผู้ตรวจฯ สอบ ปธ.กรธ.ไม่ได้จัดทำร่าง รธน.ถูกทุกขั้นตอน ส่อโมฆะ ชี้ไม่พบหลักเกณฑ์รับฟังความเห็น ย้อน “บุญเลิศ” เคยท้วงแล้วยังเฉย พร้อมชงศาลปกครองเพิกถอนร่าง รธน. ชี้ปล่อยประชามติผลาญงบชาติเสียหาย เผย กกต.แจ้ง “อภิสิทธิ์” อุทธรณ์ปมขาดคุณสมบัติ ชี้คดียังไม่ถึงที่สุด มีเลือกตั้งมาสู้คดีกันใหม่
วันนี้ (21 มี.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องทุกขั้นตอน ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 39/1 บังคับไว้ ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่เป็นร่างฯเบื้องต้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะหรือไม่
โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 39/1 วรรคสองบัญญัติว่าระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชน แต่จนกระทั่งวันที่ 29 ก.พ. 2559 ที่ กรธ.มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ไม่พบว่า กรธ.มีการออกหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งกรณีดังกล่าวถ้าเทียบเคียงได้กับกรณีการสรรหา พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อปี 2545 ที่คณะกรรมการสรรหามีการเปลี่ยนวิธีการสรรหาในรอบที่ 6 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่าการสรรหานั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อ กรธ.ยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์วิธีการการรับฟังความคิดเห็นก็ย่อมถือว่าการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจนนำมาสู่การมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก มีการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด
“สมัยการยกร่างรัฐธรรมนูญของนายงบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ขณะนั้นยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 34 วรรคสองที่บัญญัติให้ กมธ.นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช. คสช. ครม. ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ แต่นายบวรศักดิ์ ก็มีการไปออกข้อบังคับของ สปช.ในการจัดรับฟังความคิดเห็น แต่ครั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดแต่นายมีชัยกลับไม่ดำเนินการ ซึ่งเมื่อตอนต้นปีนายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีต สปช.ก็เคยทักท้วงเรื่องดังกล่าว แต่นายมีชัยก็ยังนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ผมก็ตรวจสอบเรื่อยมาและเห็นว่านายมีชัยในฐานะที่เป็นประธาน กรธ. ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ศาลปกครอง จึงได้มีการไปยื่นร้องต่อศาลปกครองด้วยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาขอให้วินิจฉัยเพิกถอนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ กรธ.นำกลับมาดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วน เพราะถ้าหากไปปล่อยจนถึงมีการทำประชามติ จะทำให้เกิดการเสียหายและเสียงบประมาณ”
นายเรืองไกรยังกล่าวถึงกรณียื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้วินิจฉัยว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขาดคุณสมบัติการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ จากกรณีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากราชการทหารชอบด้วยกฎหมายว่า ตนได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วว่ากรณีดังกล่าวนายอภิสิทธิ์ได้ยื่นอุทธรณ์ จึงยังถือว่าคดีไม่ถึงที่สุด กกต.ก็จะยุติเรื่องไว้ก่อน ส่วนตัวก็ไม่เป็นไร ก็จะรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ถ้าหากในอนาคตมีการเลือกตั้ง และนายอภิสิทธิ์เซ็นรับรองส่งตัวผู้สมัคร ส.ส. ก็คงต้องมาถกเถียงกันและอาจจะต้องมีการยื่นให้ กกต.พิจารณากันใหม่