อดีต ส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แนะเอาข้อเสนอ คสช. ร่างเป็นบทเปลี่ยนผ่าน ไปทำประชามติ ถ้าชาวบ้านไม่เอาก็จบ ถ้าเอาก็ใส่ในรัฐธรรมนูญ เชื่อลดความขัดแย้งได้ ด้าน “วิลาศ” จวก “ประวิตร” ฝืนมติ ครม. ให้เอกชนเรียน วปอ.ได้
วันนี้ (19 มี.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนเห็นว่าควรจะนำเอาไปทำประชามติเพื่อลดความขัดแย้ง เพราะข้อเสนอที่เกี่ยวข้องในเรื่องช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรีคนนอก ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของรัฐสภา “ส.ส.500 + ส.ว.250” เพื่อป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือก ส.ส. เขตพวงใหญ่ 3 คน แต่เลือกได้แค่คนเดียว ทำให้ในเขตเลือกตั้งจะมีผู้ชนะได้เป็น ส.ส. แบบเฉลี่ย ๆ กันทั้ง 2 พรรคใหญ่ และ 1 พรรคเกิดใหม่
“ผมเห็นว่า ควรร่างข้อเสนอนี้เป็นบทเปลี่ยนผ่าน คล้ายบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ และเอาไปเป็นคำถามเพื่อทำประชามติจะได้ลดความขัดแย้ง ถ้าประชาชนไม่เอา ข้อเสนอก็ตกไป ถ้าประชาชนเอา ข้อเสนอก็จะเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ผมคิดว่ามันลดความขัดแย้งในอนาคตได้ และลดผลกระทบต่อร่างรัฐธรรมนูญหลักที่ได้ทำกันมาไกลมากแล้วด้วย” นายอรรถวิชช์ กล่าว
ขณะที่ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แถลงว่า ที่ผ่านมา ตนเคยเรียกร้องต่อศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ว่า ไม่ควรมีการจัดอบรมหลักสูตรพิเศษ เนื่องจากเกือบไม่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และมีการใช้งบของทางราชการด้วย ขณะเดียวกัน กลับมีภาคเอกชนเข้ามาอบรมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการองค์กรอิสระเกินความจำเป็น ปรากฏว่า มีผู้นำหลายองค์กร อาทิ ศาลปกครองสูงสุด ศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้ง นายจรัญ ภักดีธนกุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้การตอบรับ ซึ่งตนขอชื่นชม แต่ก็ยังมีองค์กรอิสระอีกหลายแห่งที่แสดงอาการทองไม่รู้ร้อน และกลับทำยิ่งกว่าเดิม
นายวิลาศ กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณ ครม. โดยนายกรัฐมนตรีได้มติในการประชุม ครม. เมื่อ 23 ก.พ. 59 ให้ชะลอรับนักศึกษาในหลักสูตรพิเศษ รวมทั้งการใช้งบราชการ โดยให้ชะลอรับภาคเอกชน และผู้เกษียณอายุเข้ารับการศึกษา แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. สภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ได้ประชุมและได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตร โดย ถ้าเป็นข้าราชการ มีอายุ 52 - 55 ปี ส่วนเอกชน อายุตั้งแต่ 51 - 55 ปี หมายความว่า เอกชนก็ยังสามารถเข้าเรียนได้จึงอยากถามท่านรองนายกฯ ว่าไม่ได้ฟังมติ ครม. หรือฟังแต่ไม่เข้าใจ จึงได้ยกเว้นไม่ทำตามมติ ครม. พฤติกรรมเช่นนี้ก็จะทำให้องค์กรอิสระอื่นที่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนก็จะเลียนแบบตาม ตนมีข้อมูลว่าองค์กรอิสระหนึ่งเมื่อเห็นว่า วปอ. ทำได้ ก็บอกว่าก็ทำได้เช่นกัน ส่วนงบประมาณก็จะไปวิ่งเอง โดยเชิญตัวแทนสำนักงบฯ มาเรียนก็จบ