“ประยุทธ์” เป็นประธานถกคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ วางแผนทำให้ชาติมีอนาคตทุก 5 ปี ให้ทุกภูมิภาคเข้มแข็ง ไม่แย่งผลิตสินค้า พัฒนานวัตกรรม เป็นเกษตรอุตสาหกรรม รับกังวลจัดการน้ำ กำลังสอบทุจริตขุดบ่อบาดาลตั้งแต่ปีไหน เผย สตง.แค่ตั้งข้อสังเกตใช้งบไม่ถูกระเบียบ สั่งแจงแล้ว ยันไม่ได้ห้ามปลูกข้าวไว้กินเอง เผยงบรัฐแยกเป็น 5 กลุ่ม ย้ำโครงการต้องทำอีไอเอ ตรงไหนทำได้ก็ทำ บอกประปาคอนเฟิร์มน้ำพอถึง ก.ค. อนุมัติช่วยชาวนาปลูกสิ่งอื่นแต่ถ้าดื้อก็ต้องยอมรับความเสียหาย
วันนี้ (3 มี.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จากนั้นนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุม กนจ.วันนี้เราจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าอย่างมีอนาคตในทุก 5 ปี ตนต้องการให้วางแนวทางไว้ให้มีนโยบายในการปฏิบัติ ทั้งในเรื่องงบประมาณ เรื่องของแผนงานโครงการที่จะต้องมีการประสานสอดคล้องกัน และต้องการให้ทุกภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก มีความเข้มแข็งในตัวเองตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในการผลิต ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่าง เราคิดกันดูแล้วว่า ที่มีมาตรการไม่ว่าจะเป็นการโซนนิ่ง จะต้องทำให้ทั้งระบบมีการสอดคล้องกันทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ในแต่ละภูมิภาคเขาจะได้เข้มแข็งในตัวเขาเอง ไม่ต้องไปแย่งการผลิตสินค้า ไม่ต้องไปเอามาจากที่นู้นที่นี้ จะได้เกิดความแตกต่างหลากหลาย มีการพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรม โดยเฉพาะสินค้าจีไอ ที่มีต้นกำเนิดมาจากแต่ละพื้นที่ เรื่องนี้สำคัญซึ่งวันหน้าจะต้องปรับรูปแบบของเราในเรื่องของรายได้ประเทศ ที่ไม่ใช่เรื่องการเกษตรอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นเกษตรอุตสาหกรรม การแปรรูป หรือรับจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เรามีต้นทุนไม่มาก น้ำที่ได้จากน้ำฝนทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าลดลงในแต่ละปี และนับวันก็น้อยลงไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงท่าน โดยที่ท่านปรับตัวไม่ได้ เราค่อยๆ ทำไป ตรงนี้เป็นการวางยุทธศาสตร์ที่เริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นการบริหารจัดการอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการ กนจ.ก็รับไปอยู่แล้วทุกภาคส่วนมีการหารือร่วมกัน มีการเสนอแผนมา
ต่อมาเมื่อเวลา 10.55 น. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีพบการทุจริตขุดบ่อบาดาลในหลายโครงการที่มูลค่าหลายล้านบาทว่า กำลังตรวจสอบอยู่ ต้องไปย้อนดูว่าตั้งแต่ปีอะไร หลายปีผ่านมาแล้วจนถึงปี 2558 ก็ไปหามา เรื่องนี้ตนไม่ได้ปิดบังอะไร ใครผิดใครถูกก็ไปว่ากันมา ตนบอกว่าไม่ได้ใช้อำนาจ ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นใคร สิ่งที่รัฐบาลทำลงไปมีเจตนาบริสุทธิ์ทั้งสิ้น และก็กำชับมาเสมอเรื่องการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ เมื่อมีความผิดมาก็ต้องชี้แจงกันให้ได้ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่าเพิ่งไปกล่าวอ้างว่าผิดหรือถูก ตนไม่ได้พูดแบบนั้น
เมื่อถามว่า เบื้องต้นมีการชี้แจงหรือไม่ว่าเป็นการทุจริตในขั้นตอนไหน จากหน่วยงานใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนอ่านจากหนังสือพิมพ์ สตง.ชี้มาตนก็ทราบอยู่แล้วว่าเขามีข้อสังเกตว่าอาจจะมีการใช้ไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ เห็นว่าเขาเขียนมาแบบนั้นจึงได้สั่งลงไปให้หน่วยที่เกี่ยวข้องชี้แจงตามข้อสังเกตเหล่านั้นว่าผิดหรือถูกอย่างไร ถ้า สตง.รับได้ก็จบ วิธีการทำงานจะเป็นแบบนี้
เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องน้ำตอนนี้มีความวิตกกังวลว่าจะพอใช้ในช่วงฤดูแล้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลก็วิตก พูดมา 2-3 ปี เตือนก็แล้ว เราก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องใช้หลักการทางยุทธศาสตร์ด้วย ในเรื่องของการใช้ดาวเทียม และนำเอาข้อมูลที่ผ่านมาทุกปีมาดูว่าลดลงเท่าไหร่ จากนั้นก็มาสู่แผนที่ตนจะมียุทธศาสตร์การพัฒนาตามแนวทางในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ให้มีคามชัดเจนขึ้นโดยใช้ข้อมูลพื้นที่จากข้างล่างที่มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต การบริหาร ความสมบูรณ์ของดิน จะต้องนำมาพิจาณาทั้งหมด จะทำให้ภูมิภาคเข้มแข็งอย่างไร เพราะฉะนั้นในแต่ละภูมิภาคจะทำเกษตรอย่างไร เกษตรน้ำมาก เกษตรน้ำน้อย ไร่นาส่วนผสม นาแปลงใหญ่ หรือเกษตรแปลงใหญ่ แต่ตนก็ไม่ได้ห้ามคนที่ปลูกข้าวไว้กินเอง เพราะที่ผ่านมาเขามุ่งแต่จะขายอย่างเดียวก็เลยเกิดปัญหา รายได้เขาก็ไม่มี น้ำน้อยก็เสียหาย แล้วก็รอเยียวยา รอรัฐบาลช่วยก็ไม่ไหวนะ รัฐบาลก็แย่ไปด้วย เงินทองก็ต้องใช้ในหลายอย่าง ทั้งแก้ไขปัญหาเดิม มาตรการเร่งด่วน วันนี้งบประมาณจะแยกเป็น 5 กลุ่ม 1. งบฟังก์ชัน และงบพัฒนาพื้นฐานของแต่ละกระทรวง 2. งบประมาณตามอาเจนด้า ก็ต้องแก้ไขในเรื่องของความเข้มแข็ง ขีดความสามารถของประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3. เรื่องงบประมาณการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ 4. งบภัยพิบัติและสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น และ 5. งบกลางที่เหลือไว้แก้ปัญหา ฉะนั้นการทำงบประมาณในปี 2560 จะเป็นแบบนั้น แล้ว พ.ร.บ.งบประมาณใหม่จะจัดทำให้เป็นแบบนี้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า งบประมาณในส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องสำคัญ และสอดคล้องกันทั้งหมด ทั้งงบประมาณปี 2559 ที่เราตีเส้นไว้ในเดือน มี.ค. ถ้าอันไหนทำไม่ได้ก็จะปรับตรงนี้เอามาทำอันที่ทำได้ ไม่อย่างนั้นก็จะติดอยู่อย่างนี้ ที่มันติดเพราะเราทำตามกติกา ทั้งหมดต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำประชาพิจารณ์ ตนก็จะใช้อำนาจเต็มที่ตรงนั้นอยู่แล้ว อยากให้ประชาชนได้เข้าใจและมีความร่วมมือ ถ้าทำไม่ได้โครงการใหญ่ๆ ก็ต้องส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ โดยเฉพาะเงินจากรัฐ ตนก็มาดูว่าทำไมมันช้า นอกจากการจัดทำงบประมาณที่มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเพราะมีโครงการจำนวนมาก โครงการขนาดใหญ่อาจจะมีความใหญ่มากเกินไป แล้วก็ติดการทำอีไอเอ ตรงไหนเราทำได้เราก็ทำ อย่างน้อยก็บรรเทาความเดือดร้อน วันหน้าทำได้ก็จะเป็นภาพใหญ่ออกมา วันนี้ตนอยากให้มองประเทศในภาพใหญ่ จากภูมิภาค จากภูมิภาคก็เป็นกลุ่มจังหวัด ซึ่งตนก็คุยกับกลุ่มจังหวัดแล้ว ทำอย่างไรให้ภูมิภาคเข้มแข็ง การทำงบประมาณจะต้องส่งเสริมแนวทางให้สอดคล้องกับประชารัฐ จะต้องฟังจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน จากข้างบนลงไปข้างล่าง อาจจะเข้าใจยาก ที่พยายามทำกันอยู่ทุกวันเราก็พยายามแก้สิ่งเหล่านี้เพื่อมองระยะยาว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะเรื่องน้ำประปาที่มีการปล่อยน้ำไม่สม่ำเสมอทำให้ประชาชนกักตุนน้ำว่า มีการรายงานสถานการณ์เข้ามาตลอดเวลา ทั้งเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหานี้ตนอยากให้ประชาชนเข้าใจไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เพราะหากไม่มีน้ำจะต้องมาคำนวณว่าจะลดการใช้ในส่วนใดได้บ้าง เพื่อรักษาการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ การประปายืนยันว่าจะมีการใช้น้ำส่วนนี้เพียงพอถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จึงทำให้มีการปล่อยน้ำไม่สม่ำเสมอเพื่อลดการปล่อยน้ำ รวมถึงลดแรงดันน้ำเพื่อไม่ให้ท่อแตกหรือรั่วด้วย
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการเกษตรจะเพียงพอที่จะสามารถปลูกข้าวได้ ส่วนใดควรที่จะลดการปลูกข้าวเพื่อหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนซึ่งรัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งให้เกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช แต่หากใครต้องการปลูกข้าวก็ต้องยอมรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเพราะมีน้ำไม่เพียงพอที่จะปลูกข้าวอยู่แล้ว วันนี้เรามีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 147 ล้านไร่ ขณะนี้สามารถใช้ได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ในเขตพื้นที่ชลประทาน วันนี้รัฐบาลได้ขุดแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมถึงบ่อบาดาลจำนวนมาก จึงขอให้แยกออกจากกัน ในเรื่องทุจริตก็ส่วนทุจริต ก็ขอให้สอบสวนกันเอง คิดว่าในช่วงฤดูฝนปีนี้จะสามารถกักเก็บน้ำได้จำนวนมาก และบางแหล่งกักเก็บน้ำก็สามารถใช้ในการเกษตรได้บ้างแต่ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด