xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เปิดประชุม G77 เผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงให้สมาชิก 134 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีเปิดประชุม G77 ย้ำมุ่งมั่นเห็นโลกพัฒนาไปอย่างสมดุลอีก 15 ปีข้างหน้า รับโลกประสบความท้าทายหลายด้าน แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนา ไทยเน้นลดเหลื่อมล้ำ-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเผยแพร่หลักปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง แจงเป็นความสุขพอเพียงเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้สมาชิก 134 ประเทศในยูเอ็น

วันนี้ (29 ก.พ.) ที่โรงแรมสยามแคมเปนสกี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม “G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy : an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ตอนหนึ่งว่า นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้รับหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในปี 2559 นี้ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 มาปฏิบัติ เราต่างมีความมุ่งมั่นที่จะเห็นโลกพัฒนาไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ในอีก 15 ปีข้างหน้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้โลกของเราประสบความท้าทายเร่งด่วนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความหิวโหย ความเหลื่อมล้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ระบบการเงินโลกที่อ่อนไหว การแย่งชิงทรัพยากร ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และแม้แต่การเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ ความขัดแย้ง การสู้รบ ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง และการที่ผู้คนจำนวนมากต้องทั้งบ้านเรือนและประเทศชาติของตน อพยพไปยังสังคมอื่นเพื่อความอยู่รอดและชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายหากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายๆ ประเทศ หากเราไม่ช่วยกัน

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าคนจนในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 57.97 ของประชากรในปี 2533 เหลือร้อยละ 10.53 ในปี 2557 และไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างขึ้นทุกที ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ถูกทำลาย สิ่งแวดล้อมถูกกระทบ เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยมีเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และทำให้เราต้องยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จุดเปลี่ยนสำคัญของไทยคือ วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้ไทยตระหนักว่า การพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ตลาดส่งออก ตลาดการเงินโลก โดยไม่สร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานจากภายใน จะทำให้ประเทศไทยอ่อนไหว อ่อนแอ และถูกกระทบได้ง่าย แต่ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง คนจำนวนมากกลับคืนสู่ชนบทสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและพอเพียง และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่แน่นอนของตลาดโลก แต่เราไม่ได้หมายถึงว่าจะปิดประเทศหรือไม่เห็นความสำคัญของตลาดโลก และนี่มักจะเป็นข้อที่คนเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคลาดเคลื่อน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ เป็นความพอดีและพอประมาณบนพื้นฐานของเหตุและผลของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะ ต้องทำอย่างรู้เท่าทันและต้องมีคุณธรรม ไม่ทำให้ตัวเองได้ดีแต่ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อน หรือสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ การพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องมาจากรากฐานของความคิด โดยปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่ในระดับบุคคล ทั้งในเรื่องการบริโภค การผลิต การดำเนินธุรกิจ การพัฒนาการเกษตร และอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี เพราะคนเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญที่สุด ประชาชนต้องเข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวต้องเข้มแข็ง เมื่อสมาชิกในสังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็ย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า แนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “การระเบิดจากข้างใน” คือ พัฒนาชุมชนให้อยู่รอด พอมีพอกิน เข้มแข็ง และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน รัฐบาลไทยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้มแข็งเริ่มจากในระดับหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมกว่า 25,000 หมู่บ้าน สร้างวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน สหกรณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จัดสรรกองทุนหมู่บ้าน เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นฐานของประเทศมีความเข้มแข็งแล้วก็จะขยายผลในวงกว้างออกไปสู่ระดับจังหวัด ภูมิภาค ทั้งประเทศ จนถึงขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกต่อไป

นายกฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อแนวทาง “ประชารัฐ” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและขับเคลื่อนการพัฒนา ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนและประเทศชาติผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประชาชน และเอกชน ในรูปแบบของหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อตลาดภายในและภายนอก

“ประเทศไทยเชื่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นสากล เปรียบเสมือนวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจาก “โรค” ที่เกิดจากความประมาท ความไม่แน่นอน และความเสื่อมโทรม อันสืบเนื่องจากผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแบ่งปันตัวอย่างการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่ของใครหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกประเทศ ต้องร่วมมือกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและธนาคารอาหารของกันและกันและของโลกแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วก็สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาได้ โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้วย

“ไทยตระหนักดีว่าหลายประเทศมีแนวทางและหลักปรัชญาในการสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นของตนเอง ซึ่งไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 เพื่อแสวงหา “ความเหมือนในความต่าง” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและโอกาสที่สำคัญในการสนับสนุนกันและกันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีความสุขร่วมกัน” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย
















กำลังโหลดความคิดเห็น