รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธจดหมายน้อยถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พักการลงโทษอดีตนายกสมาคมกล้วยไม้ เผยเป็นเพียงแค่แทงเกษียณท้ายหนังสือร้องทุกข์ธรรมดา ถ้าหากระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ ยืนยันไม่มีการแทรกแซงและไม่ได้รู้จักส่วนตัว เผยมีอีก 3 ขรก. ระดับบิ๊กร้องขอความเป็นธรรม ชี้ การพักโทษทำได้ หากรับโทษมาแล้วเกินกึ่ง และเป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม
วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเผยแพร่ลายมือที่เขียนถึงอธิบกรมราชทัณฑ์เพื่อขอให้พักการลงโทษเป็นกรณีพิเศษให้กับนายเจตน์ มีญาณเยี่ยม อดีตนายกสมาคมกล้วยไม้ ว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ ไม่ใช่จดหมายน้อย เป็นการแทงเกษียณท้ายหนังสือร้องทุกข์ธรรมดา ซึ่งลูกเมีย เขามาร้องเรียนกับตนที่ทำเนียบฯ ตนไต่สวนสอบสวนเสร็จก็โทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ท่านบอกว่าตรวจสอบพบแล้วว่าเรื่องนี้คนที่เป็นนักโทษศาลตัดสินลงโทษจำคุกแต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี ขณะนี้รับโทษไปแล้วปีเศษ และตามกฎหมายมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ให้มีการพักโทษ ถ้านักโทษได้รับโทษแล้วกึ่งหนึ่ง ก็อยู่ในข่ายพักการลงโทษ อย่างไรก็ตาม นักโทษคนดังกล่าวอยู่ในข่ายการพิจารณาอยู่แล้ว และให้เขาไปร้องกับอธิบดีต่อ จึงแทงเกษียณนี้แล้วให้เขาถือไปหาอธิบดีเอง ก็เคยทำมาแล้วกับหลายคน คราวนี้ก็จะมีการเสนออีกจำนวนมาก
“ไม่ได้เป็นการฝากฝัง ท้ายหนังสือระบุด้วยว่าถ้าหากระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ ซึ่งผมคุยโทรศัพท์กับอธิบดีว่าถ้ากฎหมายและระเบียบไม่เปิดช่องก็ไม่ต้องทำอะไร ยืนยันว่า ไม่แทรกแซงหรือสั่งอะไร กับนักโทษคนนี้ก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว หากจะมีคนมาร้องเรียนที่ผมก็สามารถทำได้ถ้าอยู่ในอำนาจหน้าที่ รายนี้ไม่ใช่รายแรก ที่ผ่านมามีคนมาร้องจำนวนมาก หลายรายก็ไม่ทำให้ เพราะตรวจสอบต้นตอว่าไม่สามารถทำได้ เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม จึงยินดีและเต็มใจ ให้เขาถือหนังสือไปเอง ไม่ได้ออกหนังสือราชการอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้สั่งในนามราชการ ไม่ได้รู้สึกผิดปกติ ไม่ตื่นเต้น เผลอๆ เจ้าตัวเขาเป็นคนเผยแพร่เอง” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ การพักการลงโทษเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายปกติ ขอให้มีข้อแม้ 2 ข้อเท่านั้น คือ 1. รับโทษมาแล้วเกินกึ่ง 2. เป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม เรื่องแบบนี้แต่ละเดือนมีเป็นสิบราย ยังอยู่บนโต๊ะอีก 3 เรื่องใหญ่ ข้าราชการระดับสูงมาขอความเป็นธรรม
อนึ่ง การแทงเกษียณ หมายถึง ข้อความที่เขียนแทรกไว้ในหนังสือ ใช้ในหนังสือราชการหรือหนังสือร้องทุกข์ต่าง ๆ โดยผู้บังคับบัญชา มีวิธีเกษียนหนังสือ ได้แก่ ส่วนที่เป็นคำวินิจฉัยสั่งการ เช่น ทราบ “ดำเนินการ” “เห็นชอบ” “อนุมัติ” “จัดและแจ้ง”, ส่วนเพิ่มเติมคำวินิจฉัยสั่งการ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) เช่น อนุมัติ และให้รายงานผลการปฏิบัติงานให้รับทราบทุก 6 เดือน ลงลายมือชื่อ ผู้เกษียน และ ลงวัน เดือน ปี