xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ย้ำสรรหา 7 บอร์ดใหม่ทดแทนโปร่งใส - “ชาตอุดม” แจงใช้ ป.ป.ท.สาวเงินเอ็นจีโอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน คตร. ระบุ สรรหาบอร์ด สสส. แทน 7 คน มีความหลากหลาย เชื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน “มูลนิธิ - เอ็นจีโอ” ไม่ต้องถึงมือดีเอสไอ ใช้แค่กลไก ป.ป.ท. ได้ ด้านผู้จัดการ สสส. ย้ำกระบวนการโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอน เผย รองนายกฯ มอบหมายหารือกรมสรรพากร หาข้อยุติมาตรการภาษี บรรเทาความเดือดร้อนภาคีฯ

วันนี้ (25 ก.พ.) พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวแสดงความเห็นต่อการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทดแทน 7 คนที่พ้นตำแหน่ง ว่า เท่าที่เห็นก็มีความหลากหลาย แต่ส่วนตัวไม่มีข้อมูลแต่ละบุคคล ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามถึงอดีตกรรมการ 7 คน จะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน หรือแสดงความบริสุทธิ์หรือไม่ พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า ข้อมูลส่วนนี้อยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในการดำเนินการ หากตรวจสอบแล้วไม่มีอะไร ก็เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของทั้ง 7 ท่านได้ ส่วนกรณีที่มีชื่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความเหมาะสมที่จะรับหน้าที่ในการคลี่คลายปัญหานี้ พล.อ.ชาตอุดม ระบุว่า ตนยังไม่ทราบข้อมูลนี้ ตรงนี้ต้องคอยติดตามกัน หากมีการเข้าสู่กระบวนการคัดสรรอย่างถูกต้องแล้วก็ต้องให้โอกาสในการทำงาน

เมื่อถามว่า ดีเอสไอสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินของมูลนิธิ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่รับเงิน สสส. ไปได้หรือไม่ พล.อ.ชาตอุดม ระบุว่า เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า จะดำเนินการอย่างไร อาจจะไม่ถึงขั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หากตรวจสอบแล้วลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีการทุจริต ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ใช้กลไกการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ได้

ส่วนการตรวจสอบที่ผ่านมาพบมูลนิธิวิถีสุข และชีววิถี ซึ่งได้รับเงิน สสส. มีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า ส่วนนี้ไม่มีข้อมูล แต่มูลนิธิต่าง ๆ จะมีวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอยู่แล้ว เมื่อได้รับเงินมาเอาไปใช้อย่างไรต้องตรงหลักเกณฑ์ของ สสส. ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ คตร. แล้ว แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมกับ ป.ป.ท. ในการตรวจสอบความเชื่อมโยงและใครได้รับประโยชน์ในลักษณะอย่างอื่นที่ไม่เป็นธรรมาภิบาลหรือไม่

เมื่อถามกรณีเอ็นจีโอไม่ยอมชำระภาษีตามที่กรมสรรพากรแจ้งให้ชำระ ภาครัฐจะสามารถสั่งให้ชำระได้หรือไม่ พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า เรื่องนี้ทางกรมสรรพากรได้ลงไปดูแล้ว ก็ต้องไปว่ากันตามกฎหมายเรื่องหน้าที่การเสียภาษี ว่าใครรับเงิน มีรายได้ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องว่ากันตามนั้น ซึ่งในภาพรวมส่วนใหญ่ก็เสียภาษีกัน อาจจะมีบางที่หรือบางองค์กร บางมูลนิธิ ยังไม่ได้ดำเนินการ

ส่วนภาครัฐควรตรวจสอบข้อมูลการจัดตั้งมูลนิธิหรือเอ็นจีโอที่ดำเนินการในประเทศ เพราะอาจมีผลต่อความมั่นคงและกิจการภายในของประเทศได้นั้น พล.อ.ชาตอุดม ระบุว่า ถ้าองค์กรใดมีการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย มีคนรับรู้ก็ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษกัน และตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีหากใครทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามกระบวนการยุติธรรมไป

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงเกณฑ์การสรรหาคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ทดแทน 7 คน ที่พ้นตำแหน่งไป ว่า การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบวิธีการสรรหา มีความโปร่งใส ส่วนจะแก้ระเบียบวาระในการดำรงตำแหน่งรวมถึงการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่นั้น ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ หลังจากได้กรรมการบอร์ดทั้ง 7 คนแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 7 คนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป สำหรับอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนที่ถูกคำสั่ง มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ปลดจากการปฏิบัติหน้าที่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนหรือไม่นั้น เวลานี้ยังถือว่า อดีตคณะกรรมการทั้ง 7 คน ยังไม่เป็นผู้กระทำความผิด แต่คงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นตำแหน่งไปตามคำสั่งมาตรา 44

ส่วนการแต่งตั้งบุคคลใหม่อดีตกรรมการทั้ง 7 คน จะสามารถลงสมัครได้หรือไม่นั่น โดยส่วนตัวเห็นว่า สามารถลงสมัครได้ เพราะทั้ง 7 คนไม่ได้ถูกตัดสินว่าทุจริต อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายก็เคยออกมาย้ำว่ากรรมการชุดเก่าที่พ้นจากตำแหน่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 7 คน สามารถสมัครเข้าเป็นบอร์ด สสส. อีกครั้งได้ เพราะไม่มีข้อขัดข้องทั้งในนโยบายและกฎหมาย โดยกฎหมายห้ามเฉพาะคนที่เคยถูกไล่ออกหรือทุจริต แค่ให้พ้นจากตำแหน่งเท่านั้น

ส่วนเรื่องสถานการณ์เรียกเก็บภาษีอากรจากการทำงานสร้างเสริมสุขภาพนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ตนเอง ในฐานะผู้จัดการกองทุน สสส. ไปหารือร่วมกับกรมสรรพพากร ถึง เพื่อทำความเข้าใจหรือปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคีฯ 4,184 โครงการในปัจจุบันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น