xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ “รมว.วิทย์-รมว.อุตฯ-พลังงาน-สธ.” รัฐมนตรีโลกลืม! ปชช.ยังเชื่อมั่น “ทีมลุงตู่” สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นิด้าโพล” บอก รมว.วิทย์-รมว.อุตฯ-พลังงาน-สธ.ติดโผรัฐมนตรีโลกลืม เผยคนไทยประทับใจ “บิ๊กป้อม” เทียบ “สมคิด” - ไม่ปลื้ม “ฉัตรชัย-รมว.ไอซีที” ด้านคะแนนการทำงาน 1 ปี 6 เดือน นายกรัฐมนตรีหดทุกด้าน ตัวเลข 29.68% “ทีมลุงตู่” ยังเชื่อมั่น ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีมาก มากกว่าครึ่งยังเชื่อมั่นนายกฯ มีอุดมการณ์และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน บุคลิกภาพผู้นำสูง

วันนี้ (24 ก.พ.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเนื่องในการทำงานครบรอบ 1 ปี 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานของนายกรัฐมนตรี พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความ น่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (tematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 29.68 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีมาก ร้อยละ 49.92 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ค่อนข้างดี ร้อยละ 11.60 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ค่อยดี ร้อยละ 7.84 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ดีเลย ร้อยละ 0.16 ระบุอื่นๆ เช่น ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีในระดับปานกลาง และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีสัดส่วนผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ดีมาก ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ค่อนข้างดี และไม่ค่อยดี จนถึงระดับไม่ดีเลย กลับมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

เมื่อถามถึงลักษณะการทำงานในรอบ 1 ปี 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในด้านต่างๆ พบว่า ด้านอุดมการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.56 ระบุว่ามีอุดมการณ์และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน รองลงมาร้อยละ 12.80 ระบุว่าไม่มีอุดมการณ์ คิดแต่จะทำงานเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและ คสช. และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ามีอุดมการณ์ลดลงเล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าไม่มีอุดมการณ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ด้านความกล้าตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.72 ระบุว่ามีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ ขณะที่ร้อยละ 13.52 ระบุว่าไม่มีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า มีความกล้าตัดสินใจ ลดลงเล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ไม่มีมีความกล้าตัดสินใจ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ด้านบุคลิกภาพผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.88 ระบุว่ามีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร รองลงมาร้อยละ 17.52 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตย ร้อยละ 7.36 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบก้ำกึ่ง ทั้งแบบผู้นำประชาธิปไตย และผู้นำแบบทหาร และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ามีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับผู้ที่ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ามีบุคลิกภาพผู้นำแบบก้ำกึ่ง ทั้งแบบผู้นำประชาธิปไตย และผู้นำแบบทหาร มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย

ด้านประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.08 ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการทำงาน ลดลงเล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.80 ระบุว่า การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะที่ ร้อยละ 17.84 ระบุว่า การทำงานไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และร้อยละ 11.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าการทำงานไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความประทับใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.68 ระบุว่าประทับใจในการทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 42.32 ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 3 ร้อยละ 42.16 ระบุว่าเป็น นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อันดับ 4 ร้อยละ 41.36 ระบุว่าเป็น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 5 ร้อยละ 41.20 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประชาชนไม่ประทับใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.96 ระบุว่า ไม่ประทับใจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 36.40 ระบุว่าเป็น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อันดับ 3 ร้อยละ 35.60 ระบุว่าเป็น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อันดับ 4 ร้อยละ 35.36 ระบุว่าเป็น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอันดับ 5 ร้อยละ 34.96 ระบุว่าเป็น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชาชนไม่รู้จัก 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.24 ระบุว่า ไม่รู้จัก นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 25.52 ระบุว่าเป็น นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อันดับ 3 ร้อยละ 25.28 ระบุว่าเป็น พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อันดับ 4 ร้อยละ 25.20 ระบุว่าเป็น นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอันดับ 5 ร้อยละ 24.88 ระบุว่าเป็น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.08 เป็นเพศชาย และร้อยละ 45.92 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 5.04 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 15.44 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 23.60 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 35.92 มีอายุ 46-59 ปี ร้อยละ 18.16 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.80 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.88 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.48 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์ และอื่นๆ และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 19.52 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 77.04 สมรสแล้ว ร้อยละ 1.52 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.28 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.64 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.12 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.16 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 14.96 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.40 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.64 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.44 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.04 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.92 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.04 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 32.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 6.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 8.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.00 ไม่ระบุรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น