xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเภสัชร้องนายกฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา จี้ปรับให้เป็นสากลหวั่นกระทบ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชนยื่นหนังสือ “ประยุทธ์” ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้ยังไม่ปรับให้เป็นตามสากลเกิดความเสียหาย กระทบความปลอดภัยประชาชน เป็นอุปสรรคพัฒนาอุตสาหกรรมยา จี้แบ่ง 3 ประเภทยาตามหลักสากล กันไม่ให้ทุกอาชีพจ่ายยาได้ ตัดที่ระบุไม่ต้องขออนุญาตผลิตยา กันผสมยาเอง

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเภสัชกรเพื่อมวลชน กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ นำโดยนายสงัด อินทร์นิพัฒน์ เลขาธิการกลุ่มเภสัชกรเพื่อมวลชน และนางวนิดา บัวแย้ม ประธานกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชนเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. ... ที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

นายสงัดกล่าวว่า ทางกลุ่มเภสัชฯ และกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ไม่เห็นด้วยที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่กฤษฎีกาผ่านความเห็นชอบและกระทรวงสาธารณสุขได้ทำเอกสารเป็นมติที่ประชุมของตัวแทนสหวิชาชีพ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2557 ที่จะนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เพราะเห็นว่ายังไม่มีการปรับแก้ไขในบางประเด็นที่ไม่เป็นไปตามสากลและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบยาของประเทศ รวมถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในการแข่งขันกับภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ กลุ่มตัวแทนเภสัชฯ ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้ทบทวนการแบ่งประเภทยา ควรแบ่งเป็น 3 ประเภทตามหลักสากล คือ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา ยาที่เภสัชเป็นผู้สั่งจ่าย และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และขอให้ตัดข้อยกเว้นมาตรา 24(2) ออก ที่ระบุให้ผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย หรือนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย และยาแผนทางเลือก ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถผสมยาได้เอง และควรทบทวนประเด็นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จัดการประกอบการด้านยา เช่น การผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรม ควรให้เภสัชกรเป็นผู้ควบคุม นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อห้ามในการขายยาชุด ไม่มีข้อกำหนดความรับผิดทางแพ่งสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 159 และไม่มีโทษทางปกครอง อีกทั้งยังสามารถโฆษณายาได้ทุกประเภทและโฆษณายารักษาโรคร้ายแรง โดยไม่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเภสัชฯ จึงขอคัดค้านและขอให้ทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล จึงขอให้มีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และนำฉบับที่ปรับแก้แล้วเสนอให้ที่ประชุม ครม.ก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น