สะเก็ดข่าว
ยังไม่รู้แน่ชัดว่า พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ (หัวหน้าสอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลเทียนทะเล และเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ตัดสินใจผูกคอตายเอง หรือเป็นการฆาตกรรม แต่ที่แน่ๆ วันนี้ที่พอสรุปได้คือ มีคนตายเพราะมาตรา 44 กระบองอาญาสิทธิ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
เพราะก่อนหน้า พ.ต.ท.จันทร์จะเสียชีวิตไม่ถึงสัปดาห์ เพิ่งจะเดินทางมายื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้ทบทวนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 6/2559 และ ฉบับที่ 7/2559 ที่ให้ยุบเลิกพนักงานสอบสวน จนทำให้พนักงานสอบสวนที่มีสมาชิกเกือบ 3,000 คนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เคว้งคว้าง ไม่รู้อนาคตตัวเองว่าจะไปอยู่ตรงไหน
แต่การยื่นหนังสือเพื่อส่งเสียงไปถึง “บิ๊กตู่” กลับไม่ดังพอที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะนำไปทบทวน ไม่ว่าจะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หรือ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต่างยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซ้ำยังเชื่อว่าพนักงานสอบสวนทั่วประเทศจะพอใจ โดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน
การตายของ พ.ต.ท.จันทร์ จึงเป็นการสะกิดให้ฝ่ายอำนาจฉุกคิดได้เสียทีว่า สิ่งที่เชื่อมาตลอดว่ามาตรา 44 เป็นแก้วสารพัดนึกทำได้ทุกอย่าง หลายครั้งหลายหนก็ผิดพลาด ผิดทิศผิดทางไปหมด โดยเฉพาะวงการตำรวจ ที่นอกจากจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนแล้วยังทำอะไรที่ค้านสายตาอยู่เสมอ เช่นเดียวกับคำสั่งยุบพนักงานสอบสวนฉบับนี้ซึ่งไม่จำเป็นต้องรีบทำกันฉุกละหุก เพราะอนุกรรมการตำรวจก็ศึกษาไว้อยู่แล้ว ครั้งนี้จึงพิสูจน์แล้วว่าบางเรื่องมาตรา 44 ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ความจริงผู้มีอำนาจควรจะฟังให้รอบด้านก่อนจะมีคำสั่งใดๆ ออกมา ไม่ใช่ฟังแต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตำรวจ หรือผู้ที่ใกล้ชิดตัวเองอย่างเดียว เพราะมันจะทำให้คนนินทาว่า หูเบา อย่างที่รู้กันพนักงานสอบสวนนั้นต่อสู้มาตลอด ขอให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่ทาง ผบ.ตร. ตั้งแต่ “บิ๊กอ๊อด”พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มาถึง “บิ๊กแป๊ะ” ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว พยายามกอดเอาไว้แน่น ซึ่งในเมื่อทุกอย่างยังเป็นประเด็นปัญหา เหตุใดจึงก้มหน้าก้มตาใช้มาตรา 44 อย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ
สำหรับปัญหาเรื่องนี้ เท้าความกลับไปทุกคนรับรู้กันดีว่า ก่อนหน้านี้ปัญหาใน สตช.นั้น อีรุงตุงนังมาตลอด โดยเฉพาะการโยกย้ายนายตำรวจทุกระดับชั้น เรียกว่าโยกสลับกันมั่วไปหมด เกิดความไม่พอใจในการโยกย้ายก็ไปร้องศาลปกครองกันวุ่นวาย จนคดีอยู่ในมือศาลปกครองเป็นกระบุงโกย ส่งผลให้ไม่สามารถแต่งตั้งได้ ในวาระประจำปี 2558 จนต้องเลื่อนมาตลอด แบบไร้กำหนด ปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากไม่มีตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่ได้รับการเยียวยา ทางแก้ปัญหาบิ๊กตำรวจก็คือ เสนอให้ยกเลิกสิทธิ์คุ้มครองด้วยคำสั่งนี้ เพื่อจะสามารถแต่งตั้งในวาระประจำปีได้
แล้วมันก็พันกับปัญหาพนักงานสอบสวน ที่มีผู้ใหญ่ในฝ่ายอำนาจบางคนมองว่า พนักงานสอบสวนโตเร็วเกินไป มียศ พ.ต.อ ซึ่งเท่ากับหัวหน้าสถานี ซึ่งเป็นผู้กำกับเต็มไปหมด จนเกิดปัญหาการปกครองลำบาก เพราะยศเท่ากัน งัดกันเอง ไม่มีใครฟังใคร ซึ่งก็ผิดหลักการปกครองสไตล์ทหาร แล้วหากปล่อยให้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ระแวงว่าจะทำลายปกครอง แล้วถ้าปล่อยไปถึงรัฐบาลปกติ จะทำตามกลไกปกติก็ไม่ง่าย เพราะ ส.ส.คงไม่ยอม เลยใช้มาตรา 44 ผ่าเปรี้ยงกลางใจพนักงานสอบสวน แบบไม่บอกด้วยว่าจะให้ไปเป็นอะไรต่อ รางวัลแห่งการทำงานที่บากบั่นมาก่อนหน้านี้ จึงแทบจะหมดความหมายไปเลย
โดยเฉพาะ พ.ต.ท.จันทร์ ที่เพิ่งจะลาโลก แม้กำลังจะได้เลื่อนยศจาก สบ 3 ไป สบ 4 แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะมีอะไรรองรับในอนาคตว่างานจะเป็นอย่างไร
ดังนั้น การที่ “บิ๊กตู่” จรดปากกาเซ็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ก็เหมือนไปไล่ทุบเขา จะว่าไปก็เหมือนเป็นการใช้อำนาจเพื่อจะไกล่เกลี่ยตำแหน่ง หวังว่าปัญหามันจะจบ แต่ผิดถนัด เพราะร้าวฉานไปทั้งกรมกอง
หากไม่เร่งรีบ แล้วรับฟังสักนิด เพราะหลายหน่วยงานก็พิจารณาอยู่ ทั้งอนุกรรมการตำรวจ ตลอดจนสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือแม้กระทั่งการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติเรื่องการปฏิรูปตำรวจเอาไว้ในบทเฉพาะกาล ก็คงไม่เกิดเรื่องสลดใจอย่างนี้ นี่แหละเป็นผลเสียของการไม่ฟังใคร ยึดมั่นว่า ความคิดตัวเองนั้นถูกต้อง ต้องให้พังต่อหน้าต่อตานั่นล่ะถึงจะซึ้ง
การคิดว่าแนวทางแบบนี้ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ก็ต้องดูในแง่ของการปฏิบัติด้วยว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ถ้ามีปัญหาเรื่องหลักการปกครอง เหตุใดจึงไม่แยกออกจาก สตช. เพื่อให้เขาไปอยู่กระทรวงยุติธรรมอย่างที่เขาเรียกร้องกัน เพื่อให้มีความเป็นอิสระ แก้ปัญหาเดิมๆ ที่เจ้านายชอบมาเจ้ากี้เจ้าการหรือมีใบสั่งให้คดีพลิก
จะว่าไปเรื่องการแยกงานสอบสวนออกจาก สตช. ไม่ใช่มีแค่พวกพนักงานสอบสวนเท่านั้นที่เรียกร้อง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็เคยเสนอเอาไว้ มีการจัดเสวนาระดมความคิดเห็นกันกว้างขวาง ทุกเสียงแทบจะพูดตรงกันว่าอยากให้แยกออกมา แต่ไม่น่าเชื่อว่า “บิ๊กตู่” ไม่ได้ยิน
แล้วรัฐบาลก็ไม่คิดจะทำ เพราะบรรดาตำรวจตัวบิ๊กๆ ใน สตช.ขวางเต็มลำ และวิ่งเข้าหาคนมีอำนาจเพื่อไม่ให้สานต่อ จนสุดท้ายเรื่องปฏิรูปตำรวจก็แทบไม่มีมรรคมีผลอะไรเกิดขึ้นเลย แถมแนวทางรัฐบาลที่ออกมาก็บอกแค่จะปฏิรูปเรื่องการปฏิบัติงานเท่านั้น
สรุปเรื่องปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องปฏิรูปเรื่องแรกๆ ที่ประชาชนอยากเห็นก็ไม่เกิดขึ้น แถมคำนิยามคำว่าปฏิรูปของ“บิ๊กตู่” ก็คือ การยุบพนักงานสอบสวนทิ้ง สวนทางไปจากเรียกร้องจากข้างนอก
ต้องเข้าใจว่า ทหารกับตำรวจนั้นแม้จะดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเหมือนกัน เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงเหมือนกัน แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จะใช้หลักปกครองเดียวกับทหารไม่ได้ เพราะตำรวจนั้นเป็นกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ มีหน้าที่สอบสวนให้ความเป็นธรรมก่อนจะไปชั้นศาล ในขณะที่ทหารมีหน้าที่รักษาความสงบ ยึดรูปแบบผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด สั่งซ้ายต้องซ้าย สั่งขวาต้องขวา ไมต้องสอบสวน
ไม่เข้าใจว่า การปฏิรูปของ “บิ๊กตู่” มันหมายถึงอะไรกันแน่ ชักจะเริ่มมีเสียงอื้ออึงขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่แน่ๆ คำสั่งนี้ในความรู้สึกของสังคมและพนักงานสอบสวนคือ เป็นคำสั่งข่มขู่ บีบคั้น ไม่เห็นอนาคต
ถ้าไม่มีมาตรา 44 พ.ต.ท.จันทร์ คงไม่ต้องตาย!