xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” หนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสนอ 7 เรื่อง 2 ต้องระวัง ปิดช่องบิดเบือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เห็นด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล แต่กลไกผ่าน สปท. ยังมีข้อกังขาเปิดช่องบิดเบือน แนะกำหนด 7 ประเด็น และ 2 เรื่องต้องห้าม หวังลดการผูกขาด กระจายอำนาจ พัฒนาความหลากหลาย ปฏิรูประบบยุติธรรม ลดคนจน ลดโกง ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ระวังไม่สืบทอดอำนาจ ไม่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (14 ก.พ.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่อง และฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ที่สำคัญ เปลี่ยนรัฐบาลทีนโยบาย หรือวิสัยทัศน์ประเทศก็จะถูกปรับไปมาจนไร้ความต่อเนื่อง และตอบโจทย์เฉพาะรัฐบาลและกลุ่มทุนในรัฐบาลเท่านั้น จริง ๆ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาคประชาสังคมคิดเรื่องนี้ และบางส่วนลงมือทำกันมานานแล้วแต่ภาครัฐ และภาคการเมืองไม่ขยับขาดการบูรณาการและการขับเคลื่อนที่จริงจังหวังผล จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ กล้าลงทุนทางยุทธศาสตร์และให้ประเทศมีวิสัยทัศน์มากขึ้น

รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า แต่แผนยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนที่ คสช. และ ครม. เตรียมผลักดันผ่าน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. นั้น ยังมีปมปัญหาและข้อกังขาจนอาจเปิดช่องให้มีการบิดเบือนหรือถูกมองว่าเป็น คปป.แปลงร่างมา หรือคณะกรรมยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปและปรองดอง จึงจำเป็นต้องทบทวนกันจริงจังอย่ารวบรัดตัดตอนเพราะเรื่องนี้ใหญ่กว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเถียงกันอยู่

“ผมเห็นว่า มี 7 ประเด็นที่ต้องกำหนดในแผนยุทธศาสตร์ และ 2 เรื่องสำคัญต้องห้ามหรือสูตร 7 ต้อง 2 ไม่ โดยทิศทางใหญ่ๆต้องตอบโจทย์ เช่น 1. ต้องลดการผูกขาดอำนาจทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือปรับอำนาจในแนวดิ่งเพิ่มอำนาจในแนวราบ 2. ต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและจัดการตนเองได้มากขึ้น 3. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกคำนึงถึงความหลากหลาย และการพัฒนาที่ยั่งยืน 4. ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและปฏิรูประบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล 5. ต้องลดความยากจนและจำนวนคนจนลงอย่างต่อเนื่อง 6. ต้องลดการทุจริตคอร์รัปชันลง 7. การกำหนดเนื้อหาสาระของแผนและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม ส่วน 2 ต้อง หรือประเด็นที่ต้องระมัดระวังมาก คือ 1. ต้องไม่เป็นกุศโลบายในการสืบทอดอำนาจหรือที่กบดานของอำนาจพิเศษนอกรัฐธรรมนูญ 2. ต้องไม่ให้เป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญจนตรวจสอบกันไม่ได้” รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าว

รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ประเด็นที่ กรธ. ต้องคิดต่อ คือ จะบัญญัติหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญไว้ขนาดใหนและจะเชื่อมโยงกับหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และมีสภาพบังคับได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐก็มักไม่ปรากฎเป็นจริงในทางปฏิบัติรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร


กำลังโหลดความคิดเห็น