xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ป.ป.ช.แย้ม “ยิ่งลักษณ์” ส่อหลุดคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อ้างข้าว 3.9 แสนตัน ไม่หายจากสต๊อก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ประธานสอบความรับผิดทางละเมิดจำนำข้าวยุค “ยิ่งลักษณ์” ยันหมดหน้าที่แล้ว แต่ขออุบตัวเลข เหตุเป็นหน้าที่คณะกรรมการแพ่งเป็นคนเคาะ ด้านอดีต ป.ป.ช. ชี้ กรณีข้าว 3.9 แสนตัน ไม่หายจากสต๊อก แต่ลงบัญชีผิดพลาด ส่งผลให้คดีขาดองค์ประกอบความผิด มาตรา 157 เหตุไม่พบความเสียหาย สามารถเอาข้อมูลไปสู้คดีได้

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าตัวเลขค่าเสียหายที่จะเรียกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีจำนวนกว่า 2 แสนล้านบาท ว่า เรื่องตัวเลขที่คณะกรรมการสรุปไม่สามารถบอกได้ เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุด ต้องผ่านการพิจารณาของ รมว.คลัง และนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วยังมีขั้นตอนในส่วนของคณะกรรมการความรับผิดแพ่งของกรมบัญชีกลางอีก โดยจะเป็นชุดที่สรุปตัวเลขสุดท้ายออกมา ขณะที่การดำเนินการของคณะกรรมการชุดตนถือว่าจบหน้าที่แล้ว จากนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง และใครจะต้องรับผิดชอบเท่าไร

ด้าน น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวในรอบปีบัญชี 2558 ที่กระทรวงการคลังเคยบอกมีข้าวหายไปจากสต๊อก 390,000 ตันนั้น ไม่ได้หาย แต่อาจเป็นการลงบัญชีที่ผิดพลาด และยังไม่ได้ข้อสรุปทางบัญชีเท่านั้นว่า จากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นความเสียหายมันเป็นองค์ประกอบอยู่ในนั้น ความผิดทางอาญา ผู้ที่เป็นจำเลยต้องกระทำความผิดตามองค์ประกอบทุกข้อถึงจะมีความผิด ถ้ามันขาดองค์ประกอบไปข้อใดข้อหนึ่ง มันก็จะไม่มีความผิดตามมาตรา 157 กรณีของอดีตนายกฯ ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนได้รับความเสียหาย ถ้าไม่พบว่าเกิดความเสียหาย มันก็ขาดองค์ประกอบความผิด

เมื่อถามว่า จากข้อมูลของปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นข้อมูลที่อดีตนายกฯ นำมาเป็นข้อต่อสู้ได้หรือไม่ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า อดีตนายกฯ สามารถนำข้อมูลตรงนี้มาต่อสู้ได้ เพราะการต่อสู้คดีในศาลอะไร ถ้ามีพยานหลักฐานตามข้อกฎหมาย สามารถยกขึ้นมาต่อสู้ได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า สะท้อนได้หรือไม่ว่า กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า แสดงว่า ความเสียหายมันยังไม่แน่นอน ยกเว้นแต่เป็นการกะประมาณเอา ขณะที่มีหลักการอย่างหนึ่งว่า ความเสียหายในคดีแพ่งหรือเรียกค่าเสียหายความผิดทางละเมิด กำหนดค่าเสียหายมามากแค่ไหนก็ตาม อาจไม่ให้ตามนั้น ศาลจะดูความเสียหายว่าไปตามความเป็นจริง

น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนเคยเขียนบทความไว้แล้วว่า การดำเนินทางแพ่งก็ดำเนินการไปได้ ขณะเดียวกัน โจทก์จะร้องให้ศาลรอผลคดีอาญาก่อน ถ้าผลคดีอาญาออกมาเป็นอย่างไร ก็จะมาดำเนินคดีทางแพ่งต่อไป ศาลจะดำเนินการในลักษณะแบบนี้ จะไม่พิพากษาคดีทางแพ่งไปก่อน ต้องฟังผลคดีอาญาก่อน ส่วนที่เกรงคดีจะขาดอายุความ รัฐบาลไม่ต้องกลัว เพราะเมื่อฟ้องคดีแพ่งแล้ว ศาลจะรอผลคดีศาลอาญา ตามอายุความจะต้องหยุดลง มันจึงไม่ขาดอายุความ

ทั้งนี้ ความเสียหายเกิดจากจากนโยบาย หรือเกิดจากทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในชั้นปฏิบัติ ต้องแยกกัน ถ้าเป็นความผิดนโยบายเป็นเรื่องของนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี แต่ถ้าเสียหายในขั้นปฏิบัติ ก็ต้องไปว่าผู้ปฏิบัติ คือ ขั้นที่ต่ำลงมา คนที่จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ต้องมีหน้าที่ด้วย ถ้าเขาไม่มีหน้าที่ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ทั้งนี้ สิ่งที่ตนพูดเป็นหลักของกฎหมายโดยทั่วไป ส่วนอดีตนายกฯ จะผิดหรือไม่ผิด ขึ้นอยู่กับศาลวินิจฉัย


กำลังโหลดความคิดเห็น