รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่เพชรบูรณ์ ดูโรงเรียนกินนอน จัดการการศึกษาตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ชูราชการทำโครงการลดความเหลื่อมล้่ำได้ดี
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่ จ.เพชรบูรณ์ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประเภทอยู่ประจำกินนอน แบบสหศึกษา จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดทำและปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน พร้อมจัดการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกวิชาชีพ การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยลงมือปฏิบัติจริง มีการฝึกทักษะ สามารถพึ่งพาตนเองและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นไปตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
โดย พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการติดตามผลการดำเนินการจากสถานที่และสภาพจริง เพื่อความเป็นธรรมในสังคมตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผลการดำเนินงานระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 58 - 23 ม.ค. 59 ของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการที่เกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่ มาตรการประกันโอกาส มาตรการประกันคุณภาพ และมาตรการประกันประสิทธิภาพ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมเงินทั้งสิ้น 23,387,331,518.85 บาท โดยเป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.)
พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ในส่วนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ดำเนินโครงการติวเตอร์ แนะแนวการศึกษาต่อนักเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลาม ติวเข้มระยะสั้นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขณะที่คุรุสภา ดำเนินการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ด้านสำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี
“นอกจากนี้ ทุกส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี เช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การยกระดับคุณภาพศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน “หนึ่งคน หนึ่งอาชีพ” โครงการ “อาชีวะเอกชน สร้างคน สร้างชาติ” ควบคู่กับการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในรูปแบบที่เหมาะสม เท่าเทียม ส่งผลให้นักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าว