xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเคลิ้ม “บิ๊กตู่” เมินขวางรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น อาจเอามาเป็นนิยายอะไรไม่ได้มากสำหรับการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เมื่อเริ่มออกตัวได้ดี นั่นคือมีแนวโน้มที่ได้รับการยอมรับมากกว่าเสียงต่อต้านมันก็น่าจะใจชื้นขึ้นมาได้ไม่ใช่เหรือ โดยเฉพาะกับฝ่ายคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

จากผลสำรวจล่าสุดของสวนดุสิตโพล ที่คัดลอกเอามาบางช่วงบางตอนให้เห็น เช่น เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองที่ออกมาพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด 43.48% ไม่ค่อยเชื่อ เพราะ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว พูดจากมุมมองของตนเอง เป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ฯลฯ 25.96% ไม่เชื่อ เพราะ การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ กลัวการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากกว่า ฯลฯ 22.40% ค่อนข้างเชื่อ เพราะ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ น่าเชื่อถือ ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ฯลฯ และ 8.16% เชื่อมาก เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ รู้และเข้าใจปัญหาบ้านเมืองเป็นอย่างดี ชี้ให้เห็นข้อดี-ข้อเสียของกฎหมาย ฯลฯ

เมื่อถามว่าประชาชนเชื่อหรือเห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองที่ชื่นชอบมากน้อยเพียงใด 36.87% ไม่ค่อยเชื่อ เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ฯลฯ 30.50% ค่อนข้างเชื่อ เพราะเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ฯลฯ 22.00% ไม่เชื่อ เพราะเป็นเกมการเมือง เป็นบทบาทของนักการเมืองอย่างหนึ่งที่จะต้องออกมาสร้างกระแส ฯลฯ และ 10.63% เชื่อมาก เพราะรู้สึกชื่นชอบและเชื่อมั่นในตัวท่าน เป็นผู้ที่หวังดี อยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ฯลฯ

แต่เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อบุคคลหรือหน่วยงานใดที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 77.06% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 74.59% นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 66.47% นักวิชาการ /อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ /ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 64.12% ผู้อาวุโสทางการเมือง /หัวหน้าพรรคการเมือง /ตัวแทนพรรคการเมือง และ 59.41% ข้าราชการทางการเมือง /สนช. /สปช.

แน่นอนว่า หากพิจารณาจากผลสำรวจล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ มันก็ย่อมเห็นแนวโน้มออกมาบางอย่างแล้ว โดยเฉพาะหากพิจารณาจากเครดิต ความเชื่อถือความเชื่อมั่น เมื่อเปรียบเทียบกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ชาวบ้านเขาเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ มีชัย ฤชุพันธุ์ มากกว่าพวกนักการเมือง และเมื่อเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่น

แม้ว่า ณ นาทีนี้จะยังวัดอะไรกันไม่ได้เต็มร้อย เพราะเหตุการณ์ในวันข้างหน้าอาจมีการพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เมื่อเริ่มต้นกันแบบนี้ สำหรับฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงจะใจชื้นขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย ยังดีกว่าเริ่มต้นด้วยเสียงติดลบ ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าพิจารณากันก็คือ จากผลสำรวจพอมองเห็นว่าชาวบ้านเขามองออกแบบจับได้ไล่ทันว่า พวกนักการเมืองที่ออกมาโวยวายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในเวลานี้ล้วน “มีผลประโยชน์แอบแฝง” ไม่ได้ค้านด้วยเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่อ้างกันไว้

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพก็ต้องยกตัวอย่างเสียงวิจารณ์จากพวกนักการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าต้องเน้นไปที่กลุ่มการเมืองของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนพวกนี้ในความเป็นจริงก็คือ “ลูกน้อง” ของ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวเท่านั้น และเวลานี้ข้ออ้างที่หยิบยกขึ้นมาโจมตีก็คือ อ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่เป็นสากล และที่น่าขบขันไปกว่านั้นก็คือ เหตุผลที่เพิ่งยกขึ้นมาคัดค้านก็คือบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาตรวจสอบมากเกินไป ทำให้ขัดขวางการพัฒนาบ้านเมือง ทำให้การขับเคลื่อนทำได้ช้า ซึ่งนักการเมืองคนสำคัญของทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็มี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ เหวง โตจิราการ และ ก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากใครที่ติดตามคนพวกนี้มานานก็ย่อมมองออกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ผ่านประชามติ และมีผลบังคับใช้กลุ่มนักการเมืองเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีข้อกำหนดคุณสมบัติข้อห้ามเอาไว้อย่างเข้มงวด เพราะตั้งแต่ระดับหัวโจกใหญ่ตั้งแต่ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงมาจะหมดอนาคตทางการเมืองตลอดชีวิต อีกทั้งหากคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหน้าก็ทำได้ยาก

ขณะเดียวกัน สิ่งที่คนพวกนี้ขยาดก็คือ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกกำหนดเอาไว้อย่างกว้างขวาง สามารถชี้ขาดในประเด็นสำคัญทุกเรื่อง และเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยโดนมาแล้ว ทั้งเรื่องการถูกยุบพรรค การตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ถามว่าเป็นเพราะทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ ใช่ ซึ่งวิธีการที่มักนำมาใช้อ้างอิงก็คือ “มาจากการเลือกตั้ง” จนกระทั่งนำไปสู่เหตุผลพิลึกก็คือความถูกผิดให้ตัดสินกันด้วยการเลือกตั้งและเสียงข้างมากกันไปแล้ว

แม้ว่าเวลานี้สำหรับร่างรัฐธรรมนูญยังไปไม่ถึงจุดชี้ขาด เป็นเพียงร่างแรกที่ออกมาเท่านั้น ยังอยู่ในช่วงของการรับฟังความเห็น และต้องมีการแก้ไขกันบ้าง แต่ก็เชื่อว่า คงเป็นประเด็นย่อยๆ ส่วนประเด็นหลักๆ เช่น การเปิดกว้าง “ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ คนนอก” การคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นเหล่านี้เชื่อว่าคงไว้แน่นอน

ที่น่าจับตาก็คือ ก่อนถึงวันลงประชามติในราวเดือนเมษายนปีนี้ ฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงคุมเข้มไม่ยอมปล่อยให้มีการแสดงความเห็น หรือวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมากนัก อ้างว่ายังไม่จบ ซึ่งเชื่อว่า นี่คือการสรุปบทเรียนในอดีตเมื่อครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ก่อนการลงประชามติเกือบปั่นป่วน ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งกลับมีการโหมโรงชี้แจงผ่านสื่อของรัฐอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเชื่อว่าในที่สุดแล้วคงจะมีการแก้ไขกฎหมายการลงประชามติในอีกไม่นานข้างหน้าให้ใช้เสียงข้างมากจากผู้ที่มาใช้สิทธิ แทนที่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดเอาไว้

โดยหากให้เดาน่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งแทนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุแทรกซ้อน ซึ่งวิธีการแบบนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายเคยแย้มออกมาให้เห็นบ้างแล้ว

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเท่าที่เห็นหากไม่มีอะไรพลิกผันในชั่วข้ามคืนก็น่าจะผ่าน เพราะหากชาวบ้านยังเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ มีชัย ฤชุพันธุ์ มากกว่าพวกนักการเมือง ประกอบกับการปิดโอกาสไม่ให้คนพวกนี้ได้เปิดปากวิจารณ์มากนัก แต่อีกด้านหนึ่งฝ่ายรัฐกลับใช้ทุกช่องทางในการรณรงค์ชี้ให้เห็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันก็พอมองเห็นเค้า

อย่างไรก็ดี มันคนละเรื่องกับคำถามและคำตอบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่หรือสมควรให้ผ่าน เพราะสิ่งที่ต้องการสื่อให้เห็นก็คือ การชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม และแท็กติกที่แต่ละฝ่ายนำมาใช้ว่าได้ผลแค่ไหนมากกว่า!!
กำลังโหลดความคิดเห็น