ประธาน กรธ.ย้ำร่าง รธน.ใหม่คุ้มครองสิทธิครอบคลุมกว่าในอดีต แนะควรอ่านให้ครบ เขียนไว้ถึง 6 มาตรา เฉพาะมีการบังคับรัฐจัดให้เกิดสิทธิ มีผลกว่าเรียกร้องเป็นรายๆ พร้อมเอาหูแนบดินฟังความเห็น แฉมีบางพรรคไปขึ้นป้ายบิดเบือน โกหกว่ามี ส.ส.500 เลือกตั้ง 350 อีก 150 คสช.แต่งตั้ง
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกับตัวแทนสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศประมาณ 100 คน ในการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า เคยพูดคุยกับนางมุกดา พงศ์สมบัติ ผู้ก่อตั้งสภาชุมชนว่าอยากให้สภาองค์กรชุมชนปลอดจากการเมือง เพราะถ้าการเมืองเข้ามาแทรกจะเกิดปัญหา และได้ชี้แจงว่าผู้เป็นกรรมการองค์กรสภาชุมชนไม่ควรมีสิทธิพิเศษ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการแย่งกันเข้ามาเป็น
นายมีชัยย้ำถึงการเขียนเรื่องสิทธิชุมชนว่า เราดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 เป็นหลัก และมาคิดว่าทำอย่างไรให้สิทธิเกิดมรรคผลจริง มากกว่าเขียนแค่มีสิทธิลอยๆ จึงแยกบางส่วนไปกำหนดในหมวดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้ทุกคน หากรัฐไม่ทำจะถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมีโทษแรงคือพ้นจากตำแหน่งหากมีการฟ้องแล้วพบว่ารัฐไม่ได้ทำ และเป็นอำนาจของประชาชน ผู้เสียหายไปยื่นฟ้องได้ง่าย แรงกว่าการจะถูกฟ้องให้ชดใช้เป็นรายๆ แล้วเอาเงินภาษีไปจ่ายชดเชย แทนที่จะให้แต่ละคนไปต่อสู้ตะเกือกตะกายชั้นศาล ซึ่งหากชนะก็ได้แค่สิทธิเฉพาะตัว ส่วนคนอื่นก็ต้องฟ้องศาลอีก
“เมื่อเราแยกเป็นสองส่วน นักวิชาการบางส่วนอ่านแค่หมวดเดียวก็ร้องใหญ่ว่าสิทธิหายไปเยอะ ไม่ได้อ่านหมวดหน้าที่ของรัฐ ถามว่าเวลารับเชิญไปประชุม หนังสือเชิญบอกว่าผู้ร่วมประชุมมีสิทธิกินน้ำ ท่านก็ต้องลุกไปหาน้ำเอง แต่ถ้าบอกว่าผู้จัดการประชุมจะจัดหาน้ำให้ ท่านนั่งเฉยๆ น้ำจะเอามาเสิร์ฟ ถามว่าอย่างไรดีกว่ากัน และเหมือนที่เขียนในประมวลกฎหมายแพ่ง ที่ไม่เขียนว่าลูกมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ และเมื่อพ่อแม่แก่ตัวมีสิทธิได้รับการดูแลจากลูก แต่จะเขียนว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องดูแลลูก และลูกโตขึ้นมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา”
“สิทธิชุมชนไม่ได้หาย เราเขียนไว้ 6 แห่ง ส่วนสิทธิ 2 แห่ง ในหน้าที่ของรัฐ 4 แห่ง มี ม.50, ม.53, ม.54 สามมาตรา ในแนวนโยบายแห่งรัฐอีก 1 แห่ง มาตรา 66 ดังนั้นคนที่พูดว่าทิ้งสิทธิชุมชนหายไปไม่จริง ยับอยู่ครบ เพียงแต่ไม่ได้จารนัยว่าชุมชนประเภทไหน เพราะวันข้างหน้ายังอาจเกิดประเภทใหม่ได้อีกก็จะได้รับการครอบคลุมด้วย เราคุ้มครองขนาดเขียนว่าในการใช้ทรัพยากร ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ทรัพยากรด้วย ไม่ใช่โกยเอาแต่ประโยชน์ไปที่เหลือ เหลือไว้แต่ทุกข์ เหล่านี้เราเขียนไว้ละเอียดโดยไม่ลอกปี 2540 และ 2550 มา เพราะเราคิดว่าครอบคลุมละเอียดมากกว่า”
นายมีชัยชี้แจงอีกว่า นักวิชาการคนหนึ่งสรุปว่าเราตัดสิทธิการศึกษาฟรีออกไป 3 ปี เหลือภาคบังคับ แต่เรายังให้รัฐดำเนินการให้คนไม่มีเงินสามารถเรียนต่อจนตลอดชีวิต ซึ่งมันต่างจากเดิม เดิมให้ฟรีหมดทั้งยาจกทั้งเศรษฐีหมื่นล้าน จนต้องจัดให้ตามมีตามเกิดเพราะต้องแบ่งงบประมาณให้เศรษฐีด้วย แล้วมันเป็นธรรมหรือ เช่นเดียวกับข้าราชการกินบำนาญไม่ได้รับเงินช่วยเหลือคนชรา แต่เศรษฐีหลายหมื่นล้านบางคนยังรับเงินช่วยเหลือคนชราปีละ 5,000-6,000 บาท แทนที่จะเอาเงินนั้นไปช่วยคนจน นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ซึ่งมีมากกว่าค่าเทอมแบบเดิมด้วยซ้ำ
“เรามุ่งหวังเฉลี่ยความสุข คนไม่มีจะได้มีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คนไม่มีก็อย่าได้มาเอาส่วนนี้ไปเลย” นายมีชัยย้ำ
นายมีชัยได้ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมถึงหลายองค์กร เช่น องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ที่ห่วงว่าหลายเรื่องที่เป็นรูปธรรมที่ผ่านการต่อสู้มานาน เช่น การตั้งองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคได้หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดว่า ก็ให้เสนอมาเราจะเอามาดู ถ้าคิดว่ายังขาดตกบกพร่องเราก็เติมให้ ไม่ว่าองค์กรไหนถ้าส่งมาเราก็รับหมด
“ตอนนี้กำลังเอาหูแนบดินอยู่ ใครมีอะไรก็ส่งมาได้” นายมีชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนมองว่าการเขียนให้ไปครอบคุ้มสิทธิเสรีภาพทั้งหมด อาจคุ้มครองได้เพียงสิทธิพื้นฐาน แต่หลายสิ่งที่ผ่านการต่อรู้เรียกร้องมานานอาจจะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า จริงๆ ที่เราเขียนเป็นการเขียนต่อยอดให้ทั้งนั้น แต่เดี๋ยวจะขอฟังแต่ละเรื่องแต่ละกลุ่มก่อน ถ้าเราอธิบายแล้วเขายังคิดว่าขาดอยู่เราก็จะกลับมาคิดใหม่ อาจจะเอามาเติมได้แม้จะต้องมีมาตราเพิ่มขึ้นถ้าจำเป็น
นายมีชัยยังอธิบายวิธีการเลือก ส.ว.ว่า องค์กรแรกที่นึกถึงคือองค์กรชุมชนที่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะรู้ปัญหารากหญ้าชนิดคุยกันระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านมากกว่าองค์กรอื่นๆ เราจึงนึกถึงองค์กรชุมชนเป็นตัวอย่างแรกที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในยี่สิบกลุ่มที่จะเลือกกันเองเป็น ส.ว.
นายมีชัยอธิบายการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน ว่าเป็นกลไกที่ทำให้พออยู่กันได้ บางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิ์ เคยเลือกคนเลือกพรรค แต่ถามว่าคนกับพรรคแยกกันได้มั้ย ถ้าคนดีไปอยู่ในพรรคดีก็กลายเป็นแกะดำในฝูงแกะขาว ส่วนคนไม่ดีไปอยู่ในพรรคดี พรรคนั้นก็เดือดร้อน เราจึงขอให้คำนึงทั้งคนทั้งพรรค ไม่ได้ตัดสิทธิ์แต่ขอให้คิดให้ดีเลือกทั้งคนทั้งพรรค และยังให้พรรคประชุมหารือว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ แล้วมาบอกประชาชนก่อนว่าถ้าเลือกพรรคตนแล้วใครจะได้เป็นนายกฯ เวลาเราไปเลือกก็จะได้ดูทั้งคน ทั้งพรรค ทั้งคนเป็นนายกฯ
นอกจากนี้ ระบบการเลือก ส.ส.แบบนี้ยังก่อให้เกิดความออมชอมในภาค ทำให้เสียงประชาชนไม่ถูกทิ้งน้ำ ทั้งที่คนได้รับเลือกในบางเขตไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของเขตนั้น
“คนที่เคยคิดว่าเคยลงคะนนสองใบ มีคนมาง้อสองคน มีคนจ่ายสองคน ถ้ากาใบเดียวอาจจะเหลือคนจ่ายคนเดียว ผมคิดว่าเรื่องนี้คงต้องเลิก เพราะเมื่อไหร่เราเอาสตางค์เขามา เขาก็ต้องเอากำไรคืน และเอาคืนมหาศาล”
ประธาน กรธ.กล่าวว่า เสียงที่ไปพูดกันมากจนแทบจะกลายเป็นเรื่องหลักว่าจะให้คนนอก ลองฟังดูเถอะ หากท่านเกลียดนาย ก. แล้วพรรคประกาศจะเอานาย ก.เป็นนายกฯ ท่านจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่ ถามว่าทำไมไม่เขียนห้ามว่าต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะ 1. โพลเห็นด้วยได้เห็นชื่อผู้จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ก่อน 2. วันประกาศชื่อยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงยังไม่มี ส.ส. และในระบบ MMP ก็ยังไม่แน่ว่าบัญชีรายชื่อจะได้เป็น ส.ส.เสมอไป 3. พรรคเป็นคนกำหนดจะเอาคนไหนเป็นนายกฯ ไม่ใช่ กรธ. พรรคต้องคิดเอง หรืออาจเขียนข้อบังคับพรรคกำหนดเลยว่าจะเอารายชื่อคนที่ได้เป็น ส.ส.เท่านั้นเป็นนายกฯ
“เป็นเรื่องที่เอาไปบิดเบือน ถึงขั้นโกหกก็มี บางพรรคเอาไปขึ้นป้ายว่า ส.ส.500 เลือกตั้ง 350 คน อีก 150 คน คสช.ตั้ง ซึ่งไม่มีเลยในรัฐธรรมนูญ”
ทางด้านตัวแทนองค์กรสภาชุมชนที่มาร่วมเสวนา บางส่วนรับว่าหลังจากฟังการชี้แจงแล้วก็เข้าใจและทำให้ความรู้สึกดีขึ้น ขณะที่บางส่วนยังติดใจเมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยไปเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยยังมีความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพหลายอย่างขาดหายไป
นางลักขณา แรงดี เลขาสภาองค์กรชุมชน ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทรบุรี กล่าวว่า ก่อนจะมาฟังการชี้แจงของ กรธ. ขอพูดตรงๆ ว่ามีแต่ภาพลบ เพราะมีนักวิชาการไปพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี ให้ไปล้มเขาเลย แต่พอมาฟังมาอ่านแล้วมันตรงกันข้าม และมาคิดได้ว่าเราไม่ใช้ควายที่เขาจะสั่งให้ไปชนใคร และเมื่อเข้าใจดีแล้วก็พร้อมจะกลับไปอธิบายให้คนอื่นๆ เข่าใจตรงกันด้วย
นอกจากนี้ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนหลายคนสะท้อนตรงกันว่าเมื่อได้ดูหลายๆ มาตราจากทั้งสองหมวดที่นายมีชัยแนะไว้แล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้นว่าหลักการคุ้มครองสิทธิชุมชนส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่
นายมนัส จันทราภิรมณ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ตนได้นำข้อหารือที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนภาคเหนือมารายงานว่าเขาเป็นห่วงสิทธิยุคใหม่ เช่น การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบขององค์กรชุมชนดูเหมือนถูกตัดออกทั้งหมดจากรัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งจะกลายเป็นการลดบทบาทพลังอำนาจประชาชนลง
ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิทย์ กรธ.กล่าวว่า ขอรับข้อสังเกตและขอย้ำว่าเจตนารมณ์ของ กรธ.คือ ไม่ให้สิทธิเสรีภาพที่เคยมีต้องลดน้อยลง แต่ที่ไม่เขียนบางส่วนเพราะเห็นว่ามีกฎหมายที่รับรองอยู่แล้ว แต่หากยังมีความรู้สึกหรือความไม่เข้าใจก็จะรับเอาไปปรับแก้ต่อไป