xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เมินจับมือ พท.คว่ำร่าง รธน. เหน็บยังร่างไม่เสร็จกลับบอกว่าไม่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์
ปชป.ยันพรรคไม่จับมือกับ พท.คว่ำร่าง รธน. ระบุยังไม่เสร็จแค่ร่างแรก เปรียบทำข้าวผัด แค่ใส่ข้าวกับน้ำมันในกระทะยังไม่ได้ปรุงรส กลับบอกไม่อร่อย ถือว่าแปลก พร้อมแนะ กรธ.ฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย วอนบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน ไม่ให้น้อยกว่า รธน.ปี 50

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาค กทม. กล่าวถึงกรณีนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวพาดพิงว่าพรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีตีสองหน้าเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ท่าทีของพรรคชัดเจนมาตลอดว่าจะติดตามและพิจารณาเนื้อหาซึ่งในขณะนี้ยังเป็นเพียงร่างแรก จึงควรให้ประชาชนได้รับรู้ข้อดีและข้อด้อยในร่างนี้ว่ามีอะไรบ้างเพื่อร่วมศึกษาด้วยกัน และเสนอแนะข้อด้อยเพื่อให้ กรธ.ปรับเปลี่ยนให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความสมบูรณ์ จึงไม่ใช่เวลาที่จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญยังร่างไม่แล้วเสร็จ

“เปรียบเหมือนคนกำลังทำข้าวผัด แค่ใส่ข้าวกับน้ำมันลงกระทะ ยังไม่ได้ปรุงรส แต่กลับมาบอกว่าข้าวผัดไม่อร่อย มันน่าแปลก”

ส่วนที่กล่าวหาว่าพรรคแทงกั๊กนั้น ผู้เป็นวิญญูชนควรเข้าใจได้ในเหตุและผลที่ตนได้ชี้แจง ส่วนที่มีบางฝ่ายได้ประกาศท่าทีว่าจะคว่ำรัฐธรรมนูญ ในการทำประชามตินั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแต่ละพรรคที่จะมีจุดมุ่งหมาย เพื่ออะไรอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขอก้าวล่วง เช่นเดียวกับท่าทีของเราที่เห็นว่าอย่างไรก็อย่ามาก้าวล่วง ขอให้สังคมช่วยพิจารณาเพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

ส่วนที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะชวนพรรคประชาธิปัตย์จับมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หากเห็นพ้องต้องกันนั้น นายองอาจกล่าวว่า ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่างกัน ดังนั้น พรรคใดประสงค์ที่จะดำเนินการอย่างไร จะไปจับมือกับใครก็ทำไป แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีแนวคิดที่จะจับมือกับใครในกรณีนี้ เพราะเราเชื่อว่าเป็นแค่ร่างแรกที่ กรธ.สามารถปรับเปลี่ยนให้สมบูรณ์ที่สุดได้ และคิดว่า กรธ.ควรรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งตนยังกังวลในเรื่องของสิทธิชุมชน ที่ในร่างนี้ถูกละเลย โดยไปบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการจัดการให้ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 มีการบัญญัติในเรื่องดังกล่าวชัดเจน เพื่อให้สิทธิประชาชนในการปกป้อง อนุรักษ์ และรักษาในสิทธิชุมชน จึงไม่ควรลดน้อยลงกว่าอดีต โดยต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังยึดอยู่กับพื้นฐานแนวคิดของผู้มีอำนาจ และข้าราชการว่าเป็นเจ้าของสิทธิ การระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ตนห่วงว่าจะไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้จริง เพราะคนเหล่านี้ยังถือว่าเป็นเจ้าของอำนาจ จึงควรปรับเนื้อหาให้ชัดเจน โดยจะต้องมีเนื้อหาที่ครอบคลุมและคุ้มครองไม่น้อยกว่าฉบับปี 2550


กำลังโหลดความคิดเห็น