“คำนูณ” เผยวิป สปท.เห็นชอบส่งข้อเสนอแนะปฏิรูปตามลำดับ เสนอ คกก.3 ฝ่ายมีกระบวนการเร่งรัดตามมติ ครม. ส่ง “ปานเทพ-เสรี-วิวัฒน์-นินนาท” เข้าซัก กรธ.แจงร่าง รธน. 3 ก.พ. พร้อมประชุม สปท. 8-9 ก.พ.ให้อภิปรายความเห็นร่างแรก รธน.ก่อนชง กรธ.
วันนี้ (28 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการกรรมาธิการและโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงผลการประชุมวิป สปท.ว่า ได้แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานรวม 3 ฝ่าย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปท. โดยมีแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ ของ สปท.ตามลำดับ คือ สปท.มีมติเห็นชอบให้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปให้รัฐบาลพิจารณา และคณะกรรมการประสานงานรวม 3 ฝ่าย พิจารณาให้ข้อคิดเห็น ส่งให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลและขับเคลื่อนการปฏิรูป 6 ด้านพิจารณา จากนั้น ครม.จึงพิจารณาข้อเสนอจากรองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบดำเนินการ ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้คณะกรรมการประสานงานรวม 3 ฝ่าย มีกระบวนการเร่งรัดเป็นแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. ในสถานการณ์พิเศษให้รวดเร็วมากขึ้น
นายคำนูณกล่าวว่า ที่ประชุมได้แจ้งกำหนดการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะจัดให้มีการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นให้แก่ สนช.และ สปท.ได้รับทราบ ในวันที่ 3 ก.พ. เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา โดยเปิดให้สมาชิก สปท.ส่งตัวแทนในการซักถามความชัดเจนของร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 คน ดังนี้ 1. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 2. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง 3. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และ 4. นางนินนาท ชลิตานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น
นายคำนูณกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กรธ.มีหนังสือแจ้งขอทราบว่าในปัจจุบัน สปท.ได้ดำเนินการเพื่อเสนอแนะให้มีการปฏิรูปในเรื่องใด อย่างไร และมีระยะเวลาที่เร่งด่วนเพียงใด จำเป็นต้องบัญญัติรองรับในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต่อไป วิป สปท.จึงมีมติให้จัดประชุม สปท.ในวันที่ 8-9 ก.พ. เพื่อให้สมาชิก สปท.อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ก่อนที่จะรวบรวมส่งให้กับ กรธ.ในวันที่ 15 ก.พ.ต่อไป และให้งดการประชุม สปท.ในวันที่ 1-2 ก.พ. เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมาธิการทุกคณะใช้เวลาพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ