เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดการนัดหมายกันมาล่วงหน้านานหลายเดือนว่า เวลา 9.30 น. วันที่ 15 มกราคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดไต่สวนพยานนัดแรกในคดีที่อัยการสูงสุดฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในที่ทางคดีแล้ว ยิ่งลักษณ์ ต้องเดินทางมาศาลเพื่อรับฟังการไต่สวนพยานด้วย
แม้ว่าหากพิจารณากันตามขั้นตอนแล้ว การไต่สวนพยานนัดแรกในศาลถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นของคดีเท่านั้น แต่ในภาพรวมๆแล้วถือว่านี่คือการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ หากจะทำให้ใจระทึกแล้วก็สามารถพูดแบบนั้นได้จริง ๆ
ที่ผ่านมา มีการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา ว่า ในวันที่ 15 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่นัดไต่สวนพยานนัดแรก เธอจะเดินทางศาลฎีกาฯหรือเปล่า จะหาทางหลบหนีหรือไม่ เพราะมีความพยายามขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อยเท่าที่จำได้ก็มีอยู่ถึงสองครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงเวลานี้นอกเหนือจากด้วยเหตุผลทางการในเรื่องการเคลื่อนไหวด้านมวลชนแล้ว เธอ ยังถูกจับตาถูกประกบทุกฝีเก้า โดยเฉพาะเวลาเดินทางไปตามชายแดน ซึ่งหากพูดกันแบบตรงไปตรงมากันก็คือเกรงว่าจะหนีออกไปตามช่องทางดังกล่าว
แน่นอนว่า การระแวงแบบนั้นมันก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะหากย้อนกลับไปดูพี่ชายของเธอ คือ ทักษิณ ชินวัตร ก็หลบหนีคดีมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากความผิด ความเสียหายรวมทั้งหลักฐานพยานแวดล้อมต่าง ๆ มันก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยเสียด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงรูปคดีแล้วก็มีความคืบหน้าเชื่อมโยงกันไปอีกขั้น นั่นคือ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ทางอัยการสูงสุดได้มีการแถลงสั่งฟ้องในคดีทุจริตการทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีปลอมเพิ่มเติมอีก 7 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทั้งหมดเป็นภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่นเป็นเจ้าของโรงสี บริษัทค้าข้าวส่งออก โดยการสั่งฟ้องครั้งนี้ได้มีการขออนุญาตต่อศาลให้รวมกับคดีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ที่ถูกสั่งฟ้องและศาลฎีกาฯได้รับฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้ในคดีเดียวกัน
ทั้งนี้ นายชุติชัย สาขากร รองอัยการสูงสุด (อสส.) พร้อม นายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน และคณะคดีจำนำข้าวและระบายข้าว ร่วมแถลงข่าว หลังได้ยื่นฟ้องเอกชน 7 ราย เป็นจำเลยที่ 1 - 7 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำ อม.1/2559 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 83, 86 และ 91 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 123/1 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งศาลฎีกานัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น.
โดยการฟ้องครั้งนี้ ผู้แทน อสส. ได้นำคำฟ้อง และสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงหลักฐานต่าง ๆ 300 กล่อง เอกสาร 2,280 แฟ้ม ความหนา 85,990 แผ่น ยื่นฟ้องเอกชน 7 ราย ได้แก่ 1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร โดยนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ 2. นายทวี อาจสมรรถ 3. บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ 4. บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด โดยนายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการ 5. นายปกรณ์ ลีศิริกุล 6. บริษัท เจียเม้ง จำกัด โดยนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการ และ 7. นางประพิศ มานะธัญญา
“คดีที่ฟ้องเอกชน 7 รายวันนี้ มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกัน และมีพยานหลักฐานชุดเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก ดังนั้น อัยการจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอร่วมพิจารณาด้วยแล้ว แต่ต้องรอฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่”
สำหรับการยื่นฟ้องเอกชนเพิ่ม 7 ราย เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำผิดต่อเนื่องจากนโยบายการจำนำข้าวที่ อสส. ได้ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวกทุจริตการระบายข้าว โดยเอกชนทั้ง 7 รายรับข้าวมาตามสัญญา และจ่ายแคชเชียร์เช็ค แต่กลับไม่มีการส่งข้าวไปยังต่างประเทศ โดยข้าวกลับหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ซึ่งอัยการพร้อมแสดงหลักฐานให้ผู้พิพากษาและสังคมทราบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร ที่มีการทุจริตในสัญญา 4 ฉบับ ซึ่งพยานในคดีนี้บางส่วนเป็นพยานชุดเดียวกันกับคดีที่ฟ้อง ยิ่งลักษณ์
อย่างไรก็ดี ในคดีเดียวกันนี้ยังมีนิติบุคคลของจีนและชาวจีนอีก 7 รายที่ร่วมกันกระทำความผิด เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ ยังไม่อาจติดตามตัวมาได้ แต่ในทางคดีถือว่ายังมีอายุความนานถึง 20 ปี แต่ก็ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายบุญทรง กับพวกแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อพิจารณาอีกมุมหนึ่ง เมื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนพยานนัดแรกในคดีรับจำนำข้าว ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยก็ต้องบอกว่าเริ่มมีความเครียดหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะทั้งความเสียหายและพยานหลักฐานต่าง ๆ มันค่อนข้างเห็นชัดเจน อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมันกระชั้นรวดเร็วคดีอาญาทั่วไป งานนี้ถึงได้บอกว่ามาถึงขั้นนี้ไม่ว่าใครก็ต้องเครียดและนอนไม่หลับผวากว่าเดิม !!