ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สปท. บอกพอรับได้ให้เครือญาติ ส.ส.ลง ส.ว. หากไม่ได้ให้อำนาจถอดถอน แต่เชื่อโหวตไขว้ป้องกันบล๊อกโหวตไม่ได้ รับเนื้อหารัฐธรรมนูญยังน่าห่วง สุดท้ายหนีไม่พ้นปัญหาเดิม ส.ส.บัญชีรายชื่อถอนทุน แนะเขียนแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ถ้าสภาผู้แทนฯ ยังเป็น รมต.ได้ก็หนีไม่พ้นรูปแบบเดิม ด้านรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เผยส่งแผนปฏิรูปชุดแรกชงวิป 3 ฝ่ายแล้ว ตั้่งเป้าขับเคลื่อนปีหน้า ก่อนพิจารณาแผนปฏิบัติแล้วชง ครม.ต่อ
วันนี้ (26 ธ.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดคุณสมบัติ ส.ว.โดยเปิดโอกาสให้เครือญาติของ ส.ส.มาลงสมัคร ส.ว.ได้ว่า ถ้าไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว.มากเกินไป เช่น การให้มีอำนาจเฉพาะกลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว ไม่มีอำนาจถอดถอน การไม่ห้ามเรื่องสภาผัวเมียถือว่าพอรับได้ ไม่น่าเป็นห่วง ต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาแม้มีข้อห้ามเรื่องสภาผัวเมีย แต่การเลือกตั้ง ส.ว.ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอยู่ ไม่ต่างอะไรจากการมีสภาผัวเมีย ดังนั้นสู้ให้กลับมาสู่โลกความเป็นจริงแล้วไปเพิ่มระบบตรวจสอบให้มีความเข้มแข็งแทนจะดีกว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ ส.ว.จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ลงคะแนนแบบไขว้กลุ่มกัน เพื่อเลือก ส.ว.กันเองนั้น เชื่อว่าไม่สามารถป้องกันการบล็อกโหวตได้ เพราะถึงอย่างไร ส.ว.กลุ่มต่างๆ ยังสามารถตกลงผลประโยชน์ แลกเปลี่ยนการลงคะแนนให้กันได้อยู่แล้ว คงไม่สามารถสกัดการฮั้วกันได้
นายเสรีกล่าวว่า เท่าที่ดูภาพรวมเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.เท่าที่ปรากฏขณะนี้ เห็นว่ายังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะเปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ ที่นายทุนเข้ามาถอนทุนคืน อยากให้กรธ.เขียนเรื่องการแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารออกจากกัน ระบุลงในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพราะหากยังเปิดช่องให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้อยู่ก็หนีไม่พ้นปัญหาที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารยังคงต้องเกื้อกูลพึ่งพาหาผลประโยชน์ซึ่งกันและกันตลอดเวลา ระบบการเมืองยังเป็นรูปแบบเดิมๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนในวิธีการเลือกตั้งเล็กๆ แต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง ยังน่าเป็นห่วงอยู่
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปท.ได้ส่งแผนปฏิรูปประเทศชุดแรกของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูป สปท.ทั้ง 12 คณะที่ผ่านการประชุมของที่ประชุม สปท.เมื่อวันที่ 21-23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้คณะกรรมการประสานงานวิป 3 ฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) จะกำหนดแผนดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2559 จะต้องเป็นปีที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงจะเริ่มพิจารณาแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศที่เป็นประเด็นที่สำคัญเร่งด่วน ในวันที่ 7-8 ม.ค. 2559 โดยเมื่อที่ประชุม สปท.ลงมติเห็นชอบแผนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วในวันที่ 8 ม.ค. 2559 ก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบหรือจะปรับปรุงแก้ไขต่อไป