xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ส่อปล่อยผีให้ “สนช.- สปท.- สปช.” ลง ส.ว.ได้ - โต้นักเลือกตั้งไม่เข้าใจเนื้อหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
กรธ. ส่อเค้าเปิดช่องให้ “สนช.- สปท.- สปช.” เป็น ส:ว. ได้ อ้างรัฐธรรมนูญปี 57 ไม่ได้ห้ามไว้ อีกด้านพร้อมนำทุกความเห็นจากพรรคการเมืองมาพิจารณา ชี้ คนที่ออกมาโจมตีไม่เข้าใจเนื้อหา หวั่นอธิบายประชาชนไม่ดีพอ ทำประชามติล่ม

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ทางอนุกรรมการจะพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไข เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. หลังจากที่ได้กำหนดหลักการให้มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มทางสังคม จำนวน 200 คน โดยรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติ วิธีการเลือกกันเอง เป็นต้น และหลังจากที่อนุกรรมการได้พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำรายละเอียดเข้าที่ประชุม กรธ. พิจารณา ในเบื้องต้นคาดว่า การพิจารณาเพียงวันเดียวน่าจะเสร็จแล้ว เพราะในรัฐธรรมนูญ ลักษณะการเขียน จะเป็นเพียงการกำหนดหลักการไว้ ขณะที่รายละเอียดที่วางไว้จะไปเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

นายประพันธ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว. ชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเขียนให้ชัดเจนว่า ต้องไม่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรืออดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่า เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อให้กับพรรคพวกตัวเอง ว่า กรธ. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ เพราะจะอยู่ในส่วนของบทเฉพาะกาล ซึ่งจะพิจารณาหลังจากที่ได้มีการทำเนื้อหาหลักให้แล้วเสร็จ เบื้องต้นเนื้อหาหลักมีความคืบหน้าไปแล้ว 80% ดังนั้น กรณีที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว จะต้องพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ไม่ได้ห้าม สนช., สปท. เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกเว้นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ด้าน นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านหลายเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. ได้พิจารณาไปแล้วว่า หลังจากที่ กรธ. พิจารณาเรื่องหลัก ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำข้อเสนอและความเห็นต่างมาพิจารณา เอามาเรียงลำดับดูว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และดูความเหมาะสมว่าเรื่องใดสามารถปรับให้เหมาะสมตามข้อเสนอแนะได้บ้าง รวมทั้งจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของแต่ละฝ่ายที่ส่งเข้ามายัง กรธ. นำมาประกอบการพิจารณาอีกครั้งว่าสิ่งที่ กรธ. วางแนวทางไว้กับสิ่งที่แต่ละฝ่ายเสนอมาแล้วเห็นต่างทาง กรธ. จะดำเนินการอย่างไร

ด้าน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวว่า บางเรื่องที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้าน เขาไม่เข้าใจหรืออาจจะเข้าใจผิด อย่างเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก เราอธิบายไปหลายครั้งแล้วว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เป็นผู้กำหนดผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ในตอนสมัครเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ที่พรรคเป็นผู้ตัดสินใจเลือกคนที่ดีที่สุดมาให้ประชาชนพิจารณา ระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างให้มีทางเลือกจะดีกว่า

เมื่อถามว่า การที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อการลงประชามติให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านหรือไม่ นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนตัวก็หวั่นใจอยู่เหมือนกันหากเราอธิบายกับประชาชนไม่ดีพอ แต่ถ้าเราสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญของเราได้ก็ไม่ต้องไปหวั่นอะไร แต่ขณะนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะหาวิธีที่จะไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในทุก ๆเรื่อง ซึ่งก็ถือเป็นงานหนัก แต่เราก็ต้องพยายาม เพราะเราต้องการการเมืองใหม่ไม่ใช่หรือ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันอย่างเอาเป็นเอาตายของพรรคการเมืองแบบที่ผ่านมา ที่ผ่านมาการออกแบบกลไกก็ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ดังนั้น เราต้องพยายามทำให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น