ที่ประชุม กรธ. ใช้ ครม. สูตรเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ให้ ส.ส. นั่งเก้าอี้ได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง ส่วนเสียงโหวตนายกฯ ยังต้องเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ตัดประเด็น 30 วัน เลือกไม่ได้ให้ประธานทูลเกล้าฯ คนได้เสียงข้างมาก เน้นต้องไปหาเสียงมาให้ได้ ด้าน สปท. ชง 6 ประเด็นต่อ กรธ. 21 ธ.ค. นี้ เน้นตัดวงจรกลุ่มทุนกัดกินประเทศ ลั่นพลิกโฉมหน้าการเมืองไทย
วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาหมวดคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุม กรธ. ได้พิจารณาจำนวน ครม. โดยให้มีจำนวน 35 คน และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกตามสูตรเดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรีที่จะต้องผูกโยงประเด็นการให้พ้นจากตำแหน่ง จึงได้กำหนดเงื่อนไขว่ารัฐมนตรีต้องเป็นผู้มีความสุจริต เป็นที่ประจักษ์และไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม เพื่อเป็นเกณฑ์ให้นายกฯ พิจารณา โดยยึดในประเด็นดังกล่าวเป็นหลัก เพื่อให้สังคมยอมรับ ไม่ใช่เอานายบ่อน หรือคนไม่ดีเข้ามาบริหาร นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีถูกตรวจสอบพบว่าไม่สุจริตมีปัญหาด้านจริยธรรม สามารถให้ผู้ที่พบเห็นสามารถร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งได้ เบื้องต้นยืนยันว่า กรธ. กำหนดให้ ส.ส. สามารถเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่เรื่องของนายกรัฐมนตรี ยังกำหนดให้ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 5 รายชื่อนั้น จึงได้กำหนดเกณฑ์ว่า พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติ ต้องได้จำนวน ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ เข้าใจว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองต้องมีการเจรจากับพรรคอื่น ๆ เพื่อรวบรวมเสียงข้างมากอยู่แล้ว ขณะที่เสียงโหวตของสภาผู้แทนราษฎร ยังได้ยึดเกณฑ์เดิม คือ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ กรธ. ได้ตัดประเด็นที่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่กำหนดว่า เมื่อพ้น 30 วัน นับจากการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าฯ ชื่อบุคคลผู้ได้รับเสียงข้างมากเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และหากคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีผ่านเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง อาจมีปัญหาต่อการยอมรับในสภาได้ ดังนั้นหากเกิดกรณีเสียงไม่ถึงเกณฑ์เกิดขึ้น พรรคการเมืองก็ต้องไปหาเสียงมาให้ได้ เพราะหากทำไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่งก็อาจต้องยุบสภา
“นอกจากนี้ กรธ. ยังได้เตรียมวางหลักการเรื่องหน้าที่ของ ครม. เพื่อให้ ครม. มีความรับผิดชอบต่อสภาและการบริหาร ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ ให้มีกลไกเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง จนอาจก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและกลไกต่อการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” นายอุดม กล่าว
ด้าน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อหารือสรุปประเด็นแนวทางการปฏิรูปการเมือง เพื่อส่งต่อให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. ปฏิรูปการเมือง กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การหารือวันนี้ เพื่อสรุปประเด็นเป็นรายงาน ประกอบด้วย สาระสำคัญ 6 ข้อ คือ 1. ปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2. ปฏิรูประบบพรรคการเมือง 3. ปฏิรูปการกำกับควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 4. ปฏิรูปการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 5. ปฏิรูปการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ 6. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะเน้นตัดวงจรไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาหาผลประโยชน์กัดกินประเทศเหมือนที่ผ่านมา ซึ่ง กมธ. เชื่อว่า แนวทางทั้งหมดจะเป็นการปฏิรูปเพื่อพลิกโฉมหน้าการเมืองไทย