สถานทูตสหรัฐอเมริกาเผยกำหนดเยือนไทยของ “แดเนียล รัสเซล” ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก 16-17 ธ.ค.นี้ มีคิวพบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ทั้งภาคประชาสังคมและผู้นำทางการเมืองไทย เผยบทสัมภาษณ์ผ่าน “วอยซ์ ออฟ อเมริกา” ก่อนเยือนไทย ระบุรักประเทศไทยและเคารพจุดยืนของไทย แม้ทูตสหรัฐฯ คนใหม่เพิ่งวิจารณ์กฎหมายมาตรา 112 ย้ำไม่ได้ขัดต่อการที่สหรัฐฯ อยากเห็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย ตามดู “ผู้ช่วย รมว.กต.สหรัฐฯ” เคยเยือนไทยเมื่อต้นปี คนเดียวกันกับที่วิจารณ์ “รัฐบาลประยุทธ์ 1” เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
วันนี้ (11 ธ.ค.) มีรายงานว่า สังคมออนไลน์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (U.S. Embassy Bangkok) เผยแพร่ข่าวเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา
http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2015/12/250532.htm
ระบุว่า “นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วย รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก จะเดินทางเยือน กทม. เวียงจันทน์ และโตเกียว วันที่ 13-21 ธ.ค.นี้”
ในประเทศไทย วันที่ 16 ธ.ค. นายแดเนียล รัสเซลจะนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่ 5 US-ไทย Strategic Dialogue นอกเหนือจากการรับชมกองทุนเอกอัครราชทูตฯ สำหรับโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่วัดสุทัศน์ฯ จะมีการสนทนาเรื่องยุทธศาสตร์วอชิงตัน 2012 โดยครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบในเรื่องการเมือง ความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับผู้แทนประเทศไทย
ผู้ช่วยฯ รัสเซล ยังจะได้พบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ทั้งภาคประชาสังคมและผู้นำทางการเมือง ในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ด้วย
“In Bangkok, Assistant Secretary Russel will lead the U.S. delegation to the 5th US-Thai Strategic Dialogue on December 16, in addition to viewing an Ambassador’s Fund for Cultural Preservation project at Wat Suthat Thepwararam. The Strategic Dialogue, last held in Washington in 2012, covers the full range of the political, security, and economic cooperation with Thailand. Assistant Secretary Russel will also meet with Thai government officials, civil society, and political leaders on December 17.”
มีรายงานว่า เว็บไซต์ข่าว “วอยซ์ ออฟ อเมริกา” เผยแพร่คำพูดของผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ “แดเนียล รัสเซล” ย้ำถึงความแน่นแฟ้นของมิตรภาพไทย-สหรัฐฯ (รายงานและเรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท) มีใจความว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายแดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ให้สัมภาษณ์วีโอเอไทย ระหว่างร่วมงานเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม
http://www.voathai.com/content/daniel-russel-ro/3090087.html
ผู้ช่วยรัฐมนตรี รัสเซล ตอบคำถามเกี่ยวกับคำวิจารณ์ที่สหรัฐฯ ได้รับ หลังจากที่เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นายกลิน เดวีส์ (Glyn Davies) พูดถึงกฎหมายมาตรา 112 ของไทยว่า สหรัฐฯ รักประเทศไทยและเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้ง เขากล่าวว่าประเด็นเรื่องความรักประเทศไทยและการเคารพจุดยืนของไทย ไม่ได้ขัดต่อการที่สหรัฐฯ อยากเห็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย ซึ่งอเมริกาก็มีความปรารถนาอย่างเดียวกันในเรื่องนี้ต่อประชาชนของตนเอง ท้ายสุดเขาย้ำถึงอนาคตความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่จะเติบโตและแน่นแฟ้นขึ้นในอนาคต
มีรายงานว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นายรัสเซลได้พบปะกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรค พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมคนเสื้อแดง โดยเดินทางไปพบที่บ้านพักเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้พบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงที่ทำการพรรค ได้เดินทางเข้าพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลด้วย การปรากฏตัวของผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้สังคมตีความไปต่างๆ นานา ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถใช้เหตุการณ์ดังกล่าวไปอ้างอิงกับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างแน่นอน
สำนักข่าวอิศราเผยแพร่ข้อทูลที่น่าสนใจครั้งนั้น โดยอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า โดยปกติแล้ว “หน่วยข่าวไทย” จะรายงานความเคลื่อนไหวให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านทาง “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือซีไอเอ เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือ ทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” มักจะเชื่อข้อมูลที่หน่วยข่าวประเมินให้ เพราะค่อนข้างมั่นใจและไว้ในประสิทธิภาพมากกว่าข่าวที่ได้รับจากบรรดาผู้ช่วยรัฐมนตรี เช่นเดียวกันกับ “บารัค โอบามา” ที่อย่างไรเสียก็ต้องเชื่อข้อมูลที่ “ซีไอเอ” มากกว่าข้อมูลที่ได้รับจากบุคคลอื่น
อีกทั้งการที่นายแดเนียล รัสเซล ไม่ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะสถานะของนายแดเนียล รัสเซล เป็นเพียงผู้ช่วยรัฐมนตรี ไทยสามารถส่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันไปต้อนรับได้ แต่การที่เปิดโอกาสให้นายแดเนียล รัสเซล เข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ถือว่าทางการไทยให้เกียรติเป็นอย่างมาก
แหล่งข่าวระบุว่า “นายแดเนียล รัสเซล ระมัดระวังว่าจะถูกตีความว่าเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทย จึงไม่ได้หารือ พล.อ.ธนะศักดิ์ในเรื่องการเมืองของไทยแม้แต่น้อย เพียงแต่สอบถามถึงการบังคับใช้กฎอัยการศึก และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเท่านั้น ซึ่ง พล.อ.ธนะศักดิ์อธิบายเหตุผลความจำเป็นให้รับฟังแล้ว”
ดังนั้น การที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะออกมาระบุว่า ได้หารือกับนายแดเนียล รัสเซล เกี่ยวกับการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง โดยมีชะตากรรมทางการเมืองไม่ต่างจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีผลกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่อย่างใด เพราะความสัมพันธ์ที่แท้จริงของไทยกับสหรัฐฯ ไม่เคยอยู่ในระดับดีด้วยกันมาโดยตลอด หนำซ้ำตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยิ่งห่างไกลกันมาก เพียงแต่ว่าการมาเยือนประเทศไทยของนายแดเนียล รัสเซล ทำให้ขั้วการเมืองนำไปแสวงหาประโยชน์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองแค่บางช่วงบางจังหวะเท่านั้น มีโอกาสได้พูด-ได้เคลื่อนไหว ภายใต้บริบททางการเมืองที่ยังเคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด
ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลคงไม่ต้องต่อว่านายแดเนียล เพราะเขาฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และเป็นจุดยืนของรัฐบาลเขา เราก็ให้สิทธิเสรีภาพกับทักฝ่าย
“อเมริกาก็มีศูนย์ข่าวที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารของเขา ซึ่งมีข้อมูลประเทศไทยมากพออยู่แล้ว”
มีรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเด็นที่นายรัสเซสถูกโจมตีมากที่สุดเป็นการร่วมปาฐกถา ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นถูกรัฐบาลและคนไทยส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิอย่างรุนแรง (อ่านคำปาฐกถาในวั้นนั้น จากเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย)
“สวัสดีครับ ขณะนี้ ผมกำลังอยู่ในระหว่างเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ มาเลเซียและกัมพูชา
ผมเดินทางมาภูมิภาคนี้ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่ท่านประธานาธิบดีโอบามาเดินทางมาเอเชียสองครั้งในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นักเรียนและนักธุรกิจชาวอเมริกันต่างพากันมาภูมิภาคนี้ และด้วยเหตุผลเดียวกับที่เรือพานิชย์และกองทัพเรือของเรามาแวะตามเมืองท่าในภูมิภาคนี้ นั่นคือ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของอเมริกามีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกันมากกับความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของเอเชีย ชุมชนของเราเชื่อมโยงกันด้วยการเดินทาง การค้าและความสัมพันธ์ในครอบครัว และชะตากรรมของเราก็เชื่อมสัมพันธ์กันด้วยปัญหาความท้าทายระดับโลกร่วมกัน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงโรคระบาดและลัทธิคตินิยมสุดโต่งที่นิยมใช้ความรุนแรง
ไม่มีประเทศใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ตามลำพัง ฉะนั้น ผมขอพูดถึงโครงสร้างของภูมิภาคนี้ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรและประเทศคู่ความร่วมมือได้สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวเป็นประการแรก จากนั้น ผมจะ เน้นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย และเส้นทางมิตรภาพของเราในอนาคต
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และหลังสงครามเย็นยุติลง ความร่วมมือนี้ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นกับประเทศคู่ความร่วมมือ เช่น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน เพื่อพัฒนาความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นประชาธิปไตยทั่วทั้งภูมิภาค
ประเทศของเราได้ร่วมกันสร้างโครงสร้างและสถาบันระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมให้แข็งแกร่ง โครงสร้างนี้ได้ช่วยรักษาสันติภาพในภูมิภาคนี้ และหลายประเทศได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสอันเป็นผลมาจากความสงบสุขนี้ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
เราเห็นสิ่งนี้ในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งซึ่งกำเนิดขึ้นในสถานที่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในขณะที่พม่ายังคงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราก็ได้เห็นการเปิดประเทศของพม่าครั้งประวัติศาสตร์หลังจากแยกตัวโดดเดี่ยวมาหลายทศวรรษ และในกัมพูชา ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านเมื่อปีที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสสำหรับการปฏิรูปและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้น
ในทุกประเทศข้างต้น ความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะดำเนินคู่ขนานกันไป และเรามักจะพบว่า ความสำเร็จของประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
ประธานาธิบดีโอบามาได้ให้การสนับสนุนความก้าวหน้าของภูมิภาคนี้ในหลายๆ ด้าน เช่น การเพิ่มการมีส่วนร่วม ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนซึ่งเป็นเสาหลักของโครงสร้างของภูมิภาคนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้ตัดสินใจเข้าร่วม ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ และแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนแรกประจำอาเซียน ซึ่งปัจจุบันเป็นวาระของเอกอัครราชทูตคนที่ 2 แล้ว นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามายังร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วยตนเองอีกด้วย
สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเสริมสร้างให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นเวทีหลักในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวในปีนี้
สหรัฐฯ สนับสนุนและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเอเปคซึ่งเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจในโครงสร้างของภูมิภาคนี้ เอเปคได้ช่วยเร่งการฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลก ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้สตรี และประกันว่า การเติบโตจะครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยประโยชน์ที่ได้รับจะเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้และเสริมสร้างการเติบโตของชนชั้นกลางตลอดทั่วภูมิภาค
และในการประชุมเอเปคปีนี้ สหรัฐฯ ตั้งใจที่จะสำรวจแนวทางที่สหรัฐฯ จะสามารถช่วยขยายการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น
เสาหลักที่เก่าแก่ที่สุดของความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคนี้คือ พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและ สาธารณรัฐเกาหลี ระบบความสัมพันธ์แบบพันธมิตรและความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ในหลายด้าน
ระบบดังกล่าวเป็นแกนหลักของความร่วมมือในภูมิภาคและทั่วโลก และเป็นสิ่งที่จะยืนหยัดเพื่อหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเมื่อมีการท้าทายหลักนิติธรรม เช่น การกระทำอันก่อปัญหาที่จะดำเนินการฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในทะเลจีนใต้
เราทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่า กองทัพของเราจะสามารถพร้อมทำงานร่วมกันได้ในทันทีที่มีสถานการณ์จำเป็น ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน 182 ปีระหว่างสหรัฐฯ กับไทยก็เช่นเดียวกัน ประเทศเราทั้งสองได้ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรม ปฏิบัติการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต่อต้านสลัดทะเล ส่งเสริมสาธารณสุข คุ้มครองผู้ลี้ภัย และร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยมีขอบเขตกว้างไกลกว่าจำนวนปีที่เราทั้งสองเป็นพันธมิตรกันมา หรือ แม้กระทั่งผลประโยชน์และเจตจำนงที่เรามีร่วมกัน มิตรภาพของเราซึ่งมีจุดเริ่มต้นนานมาแล้วได้รับการกระชับไมตรีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ ด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงพำนักในสหรัฐอเมริกาเพื่อ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชสมภพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการเกื้อหนุนวัฒนธรรมอเมริกัน
มิตรภาพที่กว้างไกลและยั่งยืนของเราได้รับการกระชับสัมพันธ์ด้วยนักเรียนไทยหลายพันคนที่เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ทุกปีและชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาและท่องเที่ยวในไทย เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ชาวอเมริกันได้ อาศัยอยู่ในไทยและมีส่วนเกื้อหนุนสังคมไทยในด้านต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยได้มีส่วนในสังคมอเมริกัน
ประเทศเราทั้งสองได้ยืนหยัดเคียงคู่กันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เราเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยในช่วงความขัดแย้งในคาบสมุทรอินโดจีน เราได้ต่อสู้กับการแพร่ขยายของการก่อการร้ายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเราเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่นำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่คนไทยและ ภูมิภาคนี้
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่หน่วยอาสาสันติภาพและบุคลากรสหรัฐฯ ได้มีส่วนช่วยด้านการสอนภาษาอังกฤษและการพัฒนาชนบท บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเราทั้งสองได้ร่วมมือในงานวิจัยเพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรีย และเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของเราก็ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
ทั้งสองประเทศยังมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ดำเนินมายาวนานและเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่สามของไทย บริษัทอเมริกันหลายบริษัทเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทย ส่งเสริมอาชีพหลายแสนตำแหน่ง รวมทั้งนำเทคโนโลยีชั้นนำและมาตรฐานระดับสูงเข้ามาในไทย
บริษัทเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงปริมาณการค้าการลงทุนเท่านั้นที่สำคัญ คุณภาพก็สำคัญเช่นกัน การดำเนินธุรกิจกับอเมริกาได้เพิ่มโอกาสด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานไทย ตลอดจนมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโต ช่วยให้ประเทศก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” และพัฒนาชีวิตของประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้น
ผมขอกล่าวถึงแนวทางที่เรากำลังเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตสำหรับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับไทยผ่านโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative หรือ YSEALI ของประธานาธิบดีโอบามา ผมเข้าใจว่ามีสมาชิกโครงการมาร่วมฟังในวันนี้ด้วย เชิญแสดงตัวกันหน่อยครับ...
ขอบคุณครับ และผมหวังว่าใครที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกจะมาร่วมเป็นสมาชิกโครงการกับเราด้วยนะครับ
YSEALI เป็นโครงการโดดเด่นสำหรับประธานาธิบดีโอบามา ในฐานะที่ท่านเองก็เคยเป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ช่วงหนึ่ง ท่านจึงรู้สึกผูกพันกับภูมิภาคนี้ ประธานาธิบดีโอบามาเคยจัดกิจกรรมพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกโครงการในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีชาวไทยเข้าร่วมด้วย อีกทั้งสหรัฐฯ ยังได้พาสมาชิกโครงการ YSEALI ไปเยือนสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
นี่คืออีกแนวทางหนึ่งที่สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนให้เยาวชนได้มาพบปะกันเพื่อร่วมกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ด้วยการมีส่วนร่วมและการเป็นผู้นำของทุกท่าน โครงการ YSEALI กำลังสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันและร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อจัดการปัญหาที่เยาวชนของเราระบุว่าเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยของพวกเขา อันได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม สมาชิกโครงการ YSEALI ทำให้ทั้งประธานาธิบดีโอบามา ผม และทุกคนที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาประทับใจมาก
ในเวลานี้ ผมทราบดีว่าทุกท่านในที่นี้เป็นผู้ที่มีความคิดลึกซึ้ง ดังนั้น หลังจากที่ผมได้พูดถึงสิ่งที่กำหนดภาพความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไทยไปแล้ว ทั้งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและในอนาคต ผมก็ควรต้องกล่าวสักเล็กน้อยเกี่ยวกับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยในช่วงปีที่ผ่านมา
น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคและยังได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อแปดเดือนก่อน ซึ่งได้ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
เมื่อเช้านี้ ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศธนะศักดิ์ ผมหารือกับทั้งสามท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย
ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย เราเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง
นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รู้สึกว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวแทนของตนด้วย
นอกจากนี้ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย
การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย
สารที่ผมได้สื่อถึงบุคคลที่ผมเข้าพบในวันนี้ ถึงทุกท่าน และถึงประชาชนชาวไทยทุกคนนั้นเป็นสารเดียวกัน นั่นคือ
ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันมายาวนานในหลากหลายประเด็น ที่ไม่เพียงสำคัญกับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคนี้ตลอดจนอีกฟากหนึ่งของโลก สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสายสัมพันธ์นี้ รวมทั้งต่อมิตรภาพระหว่างเรากับประชาชนทุกคนของประเทศอันแสนวิเศษนี้
สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทย ขอให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งดีงามครับ”