xs
xsm
sm
md
lg

"ถ้ารักใคร ให้ชวนมาวิ่ง" หมอเหมียว - พญ.ชวัลนุช จากแพทย์ผ่าตัดสู่นักวิ่งเท้าไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุ่มเททำงานหนัก จนคนทักว่าเริ่มโทรม ทำให้แพทย์สาวต้องหันกลับมาถามตัวเองว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องดูแลตัวเอง และ ณ จุดนั้นก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปโดยสิ้นเชิง วันเวลาผ่านไป จากที่ใครเคยทักว่าโทรม เธอดูสวยและเฟิร์มขึ้น อีกทั้งจากที่เคยป่วยง่าย ไข้หวัดบ่อย ภูมิแพ้คุกคาม ก็บรรเทาเบาบางลง...

“พญ. ชวัลนุช เรืองศรี” หรือ “คุณหมอเหมียว” คือหมอผ่าตัดสาขาศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก รพ. รามาธิบดี ที่นอกจากรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤตและหอผู้ป่วยทั่วไปยังควบสอนนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ กระทั่งร่างกายทรุดโทรม อย่างไรก็ตาม เมื่อความคิดจิตใจยื่นคำขาดว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องออกกำลังกายได้แล้ว นับจากนั้นเป็นต้นมา มีเวลาว่างเป็นไม่ได้ “หมอเหมียว” จะวางชุดกาวน์ลง แล้วสวมใส่ชุดออกกำลังกายเข้าไปแทน เธอออกไปวิ่ง จากระยะทางสั้นๆ ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหลายกิโลเมตร จนกระทั่งปัจจุบัน เธอคือนักวิ่งเท้าไฟระดับฟูลมาราธอน!

• จากแพทย์ผ่าตัดสู่นักวิ่งเท้าไฟ

ต้องบอกก่อนว่า เป็นหมอผ่าตัดสาขาศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก รพ. รามาธิบดี ขณะนี้อยู่ในช่วงลาศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา งานที่ทำอยู่ในขณะนี้เป็น research fellow ศึกษาด้านการผ่าตัดรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะและลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว ที่ Barnes Jewish Hospital. Washington University in St. Louis ซึ่งการทำงานตอนอยู่เมืองไทยทำหน้าที่ให้บริการ ดูแล รักษา ผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและโรคในช่องทรวงอกอื่น

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการสอนนักศึกษาแพทย์รวมถึงแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลรามาธิบดี ปกติทำงานให้บริการผู้ป่วยเกือบจะทุกวันในหนึ่งสัปดาห์ จันทร์ถึงศุกร์ จะมาโรงพยาบาลทุกวัน ดูแลสั่งการรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤตและหอผู้ป่วยทั่วไปในตอนเช้า บางวันก็มีสอนนักศึกษาแพทย์ข้างเตียงผู้ป่วย ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ผ่าตัดและช่วยอาจารย์ผ่าตัดตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปถึงช่วงบ่ายหรือเย็น เสร็จจากนั้นก็มาให้การบริการผู้ป่วยในช่วงเย็น ส่วนวันที่ไม่มีการผ่าตัดก็จะตรวจและให้บริการผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยนอกหรือมีสอนเลคเชอร์ให้นักศึกษาแพทย์ตั้งแต่เช้า 7 โมงเหมือนกัน

คือทำงานที่ไม่มีเวลาที่แน่นอน แล้วแต่อาการของผู้ป่วยที่รับผิดชอบและดูแลรักษาอยู่ บางวันอาจจะได้กลับบ้าน ช่วง 5-6 โมงเย็นหรือบางวันอาจจะได้กลับบ้านหลังสองทุ่ม ด้วยความที่เป็นคนสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้ว บวกกับไม่ค่อยได้ดูแลตัวเองเท่าไหร่ พักผ่อนน้อย คนไข้ก็เริ่มทักว่าโทรม หน้าตาไม่สดใส เลยรู้สึกว่าเราควรที่จะหันมาดูแลตัวเอง อย่างน้อยก็เพื่อตัวเองและจะให้ดีกว่านั้น เราควรที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไข้ เลยตัดสินสินใจหันมาดูแลตัวเอง และเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง

หลังจากที่ตั้งใจจะเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง ก็คิดว่าจะออกกำลังกายแบบไหนดีให้เหมาะกับตัวเอง เนื่องจากเป็นคนที่เลิกงานไม่เป็นเวลาแน่นอน และไม่สะดวกที่จะออกกำลังกายเป็นทีมหรือต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เลยคิดว่าการวิ่งน่าจะตอบโจทย์และเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่สุดในขณะนั้น เพราะร่างกายได้เผาผลาญและใช้พลังงานโดยการสันดาปออกซิเจนอย่างเต็มที่ อย่างที่ควรจะเป็น

• ประสบการณ์ครั้งครั้งแรกของการเปลี่ยนชุดกาวน์เป็นชุดวิ่งเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้อาจจะเคยวิ่งมาบ้างสมัยเป็นนักเรียน อย่างเก่งก็รอบสนามฟุตบอล ประมาณนั้นก็ถือว่าตัวเองเก่งมากแล้ว (ยิ้ม) กลับมาลองวิ่ง ความรู้สึกก็ไม่ต่างกัน แต่ด้วยการที่เราควรที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไข้ วิ่งแค่นี้มันยังไม่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เลยคิดว่าน่าจะลองวิ่งให้ไกลขึ้นกว่านั้น จึงลองเพิ่มระยะเวลาในการวิ่งมากขึ้นมาเป็นครึ่งชั่วโมงต่อวัน จนวิ่งได้ถึงประมาณ 4-5 กิโลเมตร ภูมิใจในตัวเองมากๆ รู้สึกว่าตัวเองเก่งมาก ก็เลยออกมาเรื่อยๆ ทุกวันบ้าง วันเว้นวันบ้าง

• บริหารตารางการออกกำลังกายอย่างไรให้สมดุลกับหน้าที่การงาน ณ ตอนนั้น

อย่างน้อยที่สุด ถ้ายุ่งจริงคือ 3 วันต่อสัปดาห์ ถ้าได้มากกว่านี้ถือเป็นกำไร วันธรรมดา ต้องเข้างานเช้า อาจจะวิ่งตอนเช้าไม่ทัน ก็จะวิ่งตอนเย็นแทน ถ้าทำได้ จะชอบวิ่งตามสวนสาธารณะ เช่น สวนรถไฟ จะชอบมาก เพราะสะดวก ใกล้บ้านมากกว่าที่อื่น วันเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันที่ออกวิ่งยาว จะตื่นเช้ากว่าปกติ จากที่เป็นคนเรื่อยเปื่อย นอนดึก และตื่นสายในวันหยุด วิ่งก็แก้นิสัยเสียๆ อย่างนี้ได้ แล้วมันก็จะเปลี่ยนระบบชีวิตเราอัตโนมัติ พยายามที่จะคิดและหาเวลาว่างที่เป็นไปได้เพื่อที่จะได้ออกกำลังหรือได้วิ่งตลอดเวลา บางครั้งเลิกดึก วิ่งไม่ได้ก็เข้ายิมแทน เอาที่สะดวกและเป็นไปได้

นอกจากนี้ก็พยายามที่จะบังคับตัวเองให้ออกกำลังกายในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เช่น ถ้าจะไปไหนใกล้ ก็ใช้วิธีเดินไป แทนที่จะนั่งรถหรือขับรถ ขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟท์ ดีกว่าด้วย เพราะบางทีคนเยอะ ไม่ต้องรอ แถมยังได้เบิร์นไปในตัว โดยรวมแล้วชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากๆ ตั้งแต่วิ่งทำให้ใจเย็นขึ้นด้วย จิตใจเข้มแข็งมากขึ้น อดทนมากขึ้น เพราะข้อคิดที่เราได้ระหว่างทางเวลาวิ่ง เราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เวลาวิ่งไกลๆ บางครั้งเราจะเหนื่อยและถอดใจ ก็พยายามอดทน บอกตัวเอง สังเกตร่างกายตัวเอง และปรับตัวเอง ให้ผ่านสถานการณ์ความเหนื่อยล้าเหล่านั้น จนเข้าเส้นชัย พอเสร็จจากการวิ่ง จะมีความภาคภูมิใจที่เข้ามาแทนที่ความเหนื่อย ความลำบากที่เราผ่านมาหลายสิบกิโลเมตรที่เราวิ่งผ่านมา จำได้ทุกๆ โมเมนท์ที่ผ่านมา

• จากเพียงวิ่งแค่ออกกำลังกายเลยต่อยอดเป็นนักวิ่งมาราธอนตัวยง

ค่ะ…เพราะบังเอิญหลังจากนั้นไม่นาน มีอยู่วันหนึ่ง น้องชายโพสต์รูปไปวิ่งมินิมาราธอนงานหนึ่งกับเพื่อน ตอนนั้นก็สงสัยอยู่ว่ามินิมาราธอนนี่มันไกลแค่ไหนกัน ถามไปถามมาน้องบอกว่า 10 กิโลเมตร เรานึกในใจเลยตอนนั้นรู้สึกมันไกลมากเลย ไกลกว่าที่เราวิ่งอยู่เป็นสองเท่า วิ่งแค่นี้ก็เหนื่อยจะแย่แล้ว แต่ตอนนั้นก็อยากจะท้าทายตัวเอง เพราะทำไมคนอื่นวิ่งได้ แล้วถ้าเราจะลองดูบ้าง เราจะไหวไหม เลยตัดสินใจลงวิ่งดูสักงานหนึ่ง ก็ลองค้นหางานวิ่งในอินเตอร์เน็ต งานแรกที่เจอในตอนนั้นและตัดสินใจลงสมัครวิ่งคืองานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ Thai Health Day run 2014 ที่ศูนย์ราชการ ตรงแจ้งวัฒนะ เป็นงานแรกที่ลงวิ่งในระยะ 10 กิโลเมตร ตื่นเต้นมากและตั้งใจซ้อมมาก ทำเวลาได้ 58 นาที (ยิ้ม) รู้สึกถึงความฟินที่สารเอ็นโดรฟินหลั่งออกมาเพราะร่างกายเราได้ออกกำลังกายเต็มที่ นอกเหนือจากความรู้สึกที่เราสามารถเอาชนะตัวเอง

ทีนี้ พอเข้าเส้นชัย เขาก็หนังสือมาจำหน่ายเล่มหนึ่ง เขียนโดย นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เราคิดว่าเพิ่งเริ่มวิ่ง ควรจะศึกษา ก็อ่านจบเล่มภายในวันเดียว ตอนนั้นเพราะงานวิ่งนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ เลยบอกตัวเองว่า เราจะไม่หยุดวิ่ง และจะวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะวิ่งไม่ไหว จากนั้นก็ลงวิ่งหลายๆ งาน มินิมาราธอนนับไม่ถ้วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอนนี้ที่กำลังเรียนต่ออยู่ก็วิ่งมา10 ฟูลมาราธอน ลง world marathon major สองครั้งที่เมืองนิวยอร์คกับเมืองชิคาโก ก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆ ต้องขอบคุณงานวิ่งดีๆ งานนี้ ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เราตั้งแต่วันนั้นเลย

• ที่หมอบอกว่าเป็น “จุดเปลี่ยนของชีวิต” นั้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

อย่างแรกเลยคือปัจจัยภายนอก หลังจากวิ่งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าร่างกายตัวเองเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเลยคือ ผอมลง เฟิร์มขึ้น กล้ามเนื้อมีรูปทรงมากขึ้น ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น คนรู้จักหรือคนใกล้ตัวก็จะบอกเลยว่า เราดูดีขึ้นนะ บุคลิกดีขึ้น อย่างที่สองคือปัจจัยภายนอก ไม่ค่อยเป็นหวัดหรือป่วยบ่อยเหมือนเมื่อก่อน รวมถึงอาการภูมิแพ้ดีขึ้นชัดเจน นอนหลับสนิทมากขึ้น หลับสบายเลยค่ะ และเวลาทำงานรู้สึกมีพลังงานมากขึ้น ยืนผ่าตัดได้นานขึ้นโดยไม่ค่อยรู้สึกเมื่อยขาเหมือนเมื่อก่อน เพราะขาเราแข็งแรงมากขึ้น

และผลที่ได้อีกอย่างหลังจากที่วิ่งที่วิ่งมาได้ระยะหนึ่ง คนใกล้ตัวเราก็หันมาวิ่งตามเรามากขึ้น ครอบครัว พ่อแม่เรา ก็มาวิ่งกับเรา จนเป็นกิจกรรมของครอบครัวที่ทุกคนจะมีความสุขด้วยกัน ได้คุยกันมากขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นงานวิ่งสู่ชีวิตใหม่จริงๆ อยากจะบอกตรงนี้เลยว่า รักใคร ให้ชวนมาวิ่ง

• นอกจากได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ด้วย

ใช่ค่ะ เป็นเสน่ห์ความประทับใจจากงานวิ่งที่เรารู้สึกได้ เพราะจริงๆ แล้ว เราสามารถวิ่งคนเดียว ซ้อมวิ่งเองในสวน วิ่งบนลู่วิ่ง หรือจะวิ่งที่ไหนก็ไหนก็ได้ที่เราสะดวก เพราะการวิ่ง จริงๆ มันไม่มีข้อจำกัด ขอเพียงแค่เรามีใจรัก เราอยากวิ่ง เราก็วิ่งได้แล้ว แต่โดยส่วนตัว ทำไมเราชอบไปวิ่งตามงานวิ่งล่ะ เพราะเราชอบบรรยากาศงานวิ่ง ชอบที่จะเจอคนที่ชอบวิ่งเหมือนกัน เหมือนมันเป็นอีกสังคมหนึ่งที่เราอยู่แล้วมีความสุข ไม่แปลกที่เวลาวิ่งตามงาน จะวิ่งได้ดีกว่าเวลาซ้อมเองคนเดียว ไปๆมาๆ แล้ว ทุกวันอาทิตย์จะเป็นวันที่มีความสุขมาก เพราะส่วนใหญ่จะไปตามงานวิ่งต่างๆ ที่เราสะดวก กลายเป็นว่าวันอาทิตย์จะตื่นเช้ากว่าวันธรรมดาที่ไปทำงาน


จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ยากสุดในการออกกำลังกาย คือการเริ่มต้นสำคัญมากๆ ต้องใช้ใจของเราเอง ต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ถ้าเริ่มต้นใหม่ๆ ก็เริ่มจาก บังคับตัวเองให้ได้ 2-3 วันต่อสัปดาห์ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มทีละนิด และที่สำคัญสิ่งที่จะช่วยมากๆ ในช่วงแรกสำหรับเราคือ พยายามหาแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เดี๋ยวนี้สื่อของเรามีมากขึ้น มีคนที่ชอบออกกำลังกายเหมือนๆ กัน มีไอดอลที่จะช่วยแชร์ประสบการณ์โดยการบอกเล่าผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ทางหนังสือ หรืออื่นๆ อีกมากมาย ถ้ายังนึกไม่ออก ลองไปงานวิ่งดีๆ สักครั้ง รับรองว่าจะได้แรงบันดาลใจกลับมาพัฒนาตัวเอง

• สุขภาพดี แข็งแรง ที่ทุกคนทำได้อย่างแน่นอน

ทุกคนทำได้แน่นอน จากอดีตเด็กเคยเกลียดวิชาพละ ไม่ชอบให้เหงื่อออก ไม่ชอบกีฬากลางแจ้งทุกชนิด ทุกวันนี้ดีใจนะคะที่เปลี่ยนตัวเองได้ และสุขภาพเราก็ดีขึ้นด้วย อย่าให้อะไรมาเป็นข้อจำกัด เวลาไม่ใช่อุปสรรคและปัญหาในการที่คนเราจะหันมาออกกำลังกาย และกับเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน เวลาที่เราเจอปัญหา เจออุปสรรคอะไร เราจะเข้มแข็ง รู้จักอดทน และเข้าใจตัวเองมากขึ้น เมื่อเราผ่านตรงนั้นมาแล้ว เราจะเข้มแข็ง ตอนนี้เวลาเจอปัญหาอะไร เราจะมีสติ อดทน และบอกตัวเองอยู่เสมอว่าทุกอย่างมันจะผ่านไป ขอให้เข้มแข็งและอดทน เหมือนทุกๆ ครั้งที่เราวิ่งก้าวผ่านมา








เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กำลังโหลดความคิดเห็น