xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.วอน คสช.ทบทวนคำสั่งห้ามประชุมพรรค - “นิพิฏฐ์” ไม่กล้าฟันธงราชภักดิ์โกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเกียรติ สิทธิอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าประชาธิปัตย์โอดลำบาก หลัง คสช.ไม่ให้ประชุมกรรมการบริหารพรรค ชี้ปล่อยแบบนี้แล้วมีการเลือกตั้งคงเป็นไปไม่ได้ หวังจะเข้าใจ โยนผู้บริหารแจงปม กทม. ถามให้ทำกิจกรรมบ้างเสียหายตรงไหน วอนทบทวนคำสั่ง ด้าน “นิพิฏฐ์” ชี้ประเด็นราชภักดิ์ต้องดูทุจริตคืออะไร ลงโทษคนทำแล้วหรือยัง รับยังไม่กล้าฟันธง แต่งงเด็กนิติศาสตร์วินิจฉัยไปเสียแล้ว



วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อนุญาตให้มีการประชุมพรรคว่า ถือเป็นความลำบากในแง่ของข้อบังคับของพรรคเองในเรื่องการรับสมาชิกพรรค การประชุมกรรมการบริหารพรรคที่เป็นอุปสรรคอยู่ ขณะนี้ต้องรอดูความชัดเจนของ คสช.ก่อน ซึ่งตนเชื่อว่าหากปล่อยสถานการณ์ให้เป็นอย่างนี้ แล้วปล่อยให้มีการเลือกตั้งเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ทุกพรรคการเมืองก็ต้องมีเวลาเตรียมตัว เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องมีการดำเนินกิจการทางการเมือง หวังว่า คสช.คงจะเข้าใจ และอาจจะมีแผนบางอย่าง แต่วันนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินกิจกรรมในฐานะพรรคการเมืองได้

เมื่อถามว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ ปัญหาต่างๆ เช่น ความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของ กทม.จะกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคหรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า หากเป็นเรื่องการบริงานไม่โปร่งใสของ กทม.ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารจะชี้แจง ซึ่งตนเห็นว่าก็มีการชี้แจงไประดับหนึ่งแล้ว

“ในส่วนของพรรคไม่สามารถดำนินการใดๆ ที่เป็นทางการได้ ผมอยากถามว่าการที่ปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการได้บ้างมันเสียหายตรงไหน เพราะว่าประชาชนยังพึ่งพาพรรคการเมืองในเวลามีปัญหาในพื้นที่ แต่พรรคไม่สามารถตอบสนองได้ก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง หวังว่า คสช.คงจะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ยาก และทบทวนคำสั่งตามหนังสือร้องขอของพรรคเพื่อให้สามารถเปิดประชุมได้” นายเกียรติกล่าว

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีความรับผิดชอบของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในอุทยานราชภักดิ์ว่า ที่ตนแสดงความเห็นต่างจากคนอื่นเพื่อตามกระแสที่เรียกร้องให้ พล.อ.อุดมเดชลาออกนั้น คงไม่ทำ เพราะไม่เอาแนวนี้ แต่ขอยืนยันว่าตนไม่ได้ปกป้องทหารเพราะก็เห็นต่างจากทหารหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน และเคยโดนเรียกไปปรับทัศนคติเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งไม่เคยรู้จักเป็นส่วนตัวกับ พล.อ.อุดมเดช

นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ตนขอตั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ คือ 1. มีการทุจริตหรือไม่ ต้องไปดูคำนิยามของคำว่าทุจริตว่าคืออะไร หากเรายังไม่รู้ว่าทุจริตคืออะไรก็ไม่ควรกล่าวหาใคร ทุจริตเป็นคำของกฎหมายมิใช่เกิดจากความรู้สึก 2. หากมีการทุจริตตามข้อ 1 ใครคือคนทุจริตและผู้มีหน้าที่กำกับดูแลได้กระทำการป้องกัน แก้ไข และดำเนินการกับผู้ทุจริตตามสมควรแล้วหรือยัง 3. ประเด็นการเรียกหัวคิว หรือเปอร์เซ็นต์จากโรงหล่อ เป็นการทุจริตหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะวินิจฉัย มีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน ตามหลักกฎหมายคงต้องเถียงกันได้เป็นวันๆ ตนทำงานทางด้านกฎหมายมาตลอดชีวิต ยังไม่กล้าฟันธงว่ามีการทุจริตตามคำนิยามของกฎหมายหรือไม่ แล้วนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 เทอม 1 หลายคนวินิจฉัยไปแล้วว่า พล.อ.อุดมเดช ผิดมาตราไหน วรรคไหน มันเป็นการพิสูจน์เรื่องฐานแห่งความรู้ กับความเชื่อของคนไทยอีกวาระหนึ่งว่าจะไปทางไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น