xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” ป้อง “วีระ” ยื่นสอบ “บิ๊กโด่ง” ไม่ใช่ทำลายกัน แต่เตือนมาตราผิดอาจถูกฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (ภาพจากแฟ้ม)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้กรณี “วีระ สมความคิด” ยื่นสอบ “อุดมเดช-ศิริชัย” ละเว้นทุจริต-ฮั้วประมูลอุทยานราชภักดิ์ ไม่แปลกใจและไม่ใช่เกมการเมืองเพื่อทำลาย แนะควรเปิดเผยยอดเงินบริจาคและค่าใช้จ่ายตามจริงทั้งหมด เพราะเกี่ยวกับสถาบันฯ แต่เตือนอ้างมาตราผิดอาจถูกฟ้องกลับได้

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า การกระทำเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 และ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ปี 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) กรณีการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ว่า ตนไม่แปลกใจที่จะมีการตรวจสอบเช่นนี้ เปรียบแล้วก็เหมือนลูกบอลเข้าเท้าฝ่ายตรงข้ามกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ซ้ำยังเป็นการใส่พานมาให้เตะ จึงไม่แปลกใจว่าเมื่อบอลเข้าเท้าในลักษณะนี้ นักบอลที่อยู่ในสโมสรถ้าไม่เตะบอลลูกนี้ก็คงจะถูกไล่ออก จึงเป็นลูกที่ต้องเล่น ดังนั้นการตรวจสอบในเรื่องนี้จึงไม่ใช่เป็นการเล่นการเมืองเพื่อทำลาย เพราะมีการทุจริตจริงในระดับหนึ่ง ส่วนจะถึงใคร ระดับไหน ตนไม่ทราบ เพราะมีการออกหมายจับและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วบางส่วน ซึ่งรัฐบาลเองก็กำลังดำเนินการตรวจสอบ

“พล.อ.อุดมเดช ก็ได้ดำเนินการแก้ไขในระดับหนึ่งที่ไม่ละเว้นคนใกล้ชิด เปรียบเสมือนแขนซ้ายขวา ส่วนจะเป็นที่พอใจของคนที่ติดตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. และรัฐบาลคงจะไม่พอใจ ที่สำคัญขอผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและชี้แจงเปิดเผยยอดเงินบริจาคและการใช้จ่ายทั้งหมดตามข้อเท็จจริง เพราเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน ต้องรีบชี้แจงให้สังคมหายแคลงใจโดยเร็ว โดยเฉพาะการบริจาค ผมจึงสนับสนุนให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ตามข้อเท็จจริง” นายนิพิฏฐ์กล่าว

ส่วนกรณีที่นายวีระร้อง ป.ป.ช.โดยระบุตัวเลขมาตราการกระทำความผิดนั้น ตนในฐานะนักกฎหมายก็ยังไม่กล้าระบุเลขมาตราที่ผิด เพราะยังมีข้อมูลที่ไม่พอ และโดยปกติในการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำความผิด ส่วนใหญ่จะแจ้งแต่พฤติการณ์ของการกระทำความผิด แต่จะให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ระบุมาตราความผิดเอง เพราะหากเราระบุมาตราการกระทำความผิด และข้อเท็จจริงปรากฏว่าไปไม่ถึงกับที่แจ้งไป ก็อาจถูกฟ้องร้องกลับได้ในทางกฎหมายเช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น