บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ยื่นฟ้อง “พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” อดีตบอร์ด ขสมก.กับพวกรวม 9 คน ในคดีฮั้วประมูลและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีประกวดราคารถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ 21 ส.ค.นี้
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด โดย นายทินกร พันพานิชย์กุล ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ, พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์, นายวันชาติ สันติกุญชร, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายพีระพงศ์ รอดประเสริฐ, นางปราณี ศุกระศร, นายยุกต์ จารุภูมิ, นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) มาตรา 9 , 10, 11 และ 12 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า เดิมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยจำเลยที่ 1-7 จัดประกวดราคารถเมล์ระบบเอ็นจีวี จำนวน 489 คันทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโจทก์และกิจการร่วมค้า กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยจำเลยที่ 9 ได้เข้าร่วมประกวดราคาด้วย ต่อมาโจทก์กับบริษัทดังกล่าวได้ผ่านการเข้าประกวดราคารอบแรก ทั้งนี้การประกวดราคาดังกล่าว ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 8 เป็นประธานประกวดราคาและประธานกรรมการตกลงและต่อรองราคา มีหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคา และมีจำเลยที่ 1-7 ควบคุมอีกที
ต่อมาเมื่อประมาณเดือน มีนาคม 2558 พวกจำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประกวดราคาให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของขอบเขตของงาน หรือเทอมออฟรีเฟอเรนซ์ แต่จำเลยก็ไม่ทำ กล่าวคือ บริษัทผู้แข่งขันเข้าประกวดราคาที่เข้ารอบร่วมกับโจทก์ ไม่มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของรถเมล์ที่ส่งเข้าประมูล ตามระเบียบขั้นตอนเทอมออฟรีเฟอเรนซ์ โดยเฉพาะไม่มีการกล่าวถึงการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบเอ็นจีวี กับหน่วยงานข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ แต่จำเลยก็ไม่ได้ทำการตัดสิทธิบริษัทดังกล่าวแต่อย่างไร
ภายหลังที่ได้มีการประกวดราคาเรียบร้อยไปแล้ว พวกจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบการตกลงและต่อรองราคาอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และประธานกรรมการประกวดราคา เป็นผู้ดำเนินการตกลงต่อรองราคา ลดจำนวน 489 คัน แต่จำเลยที่ 8 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว มีการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้เข้าทำการเสนอราคา เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ด้วยการแก้รายละเอียดคุณสมบัติของบริษัทผู้แข่งขันดังกล่าว ให้ถูกต้องตามระเบียบ ทำให้บริษัทดังกล่าวชนะการประกวด ทั้งที่ความจริงบริษัทดังกล่าวมีการแก้ไขสเปกหลังจากที่ได้มีการประกวดราคาและต่อรองราคาไปแล้ว ซึ่งขัดต่อระบบเทอมออฟรีเฟอเรนซ์ ทั้งนี้จำเลที่ 1-7 เป็นผู้ดูแลให้เป็นไปตามระเบียบ แต่กลับปล่อยปะละเลย จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการร่วมการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 8 การกระทำดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเรียกจำเลยมาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
เบื้องต้นศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.11/2558 เพื่อจะมีคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ในวันที่ 21 สิงหาคม เวลา 09.00 น.