“มาร์ค” เอาจริงกวาด กทม. ทำหนังสือถึง คสช.ให้ยกเลิกคำสั่งที่ 57 เปิดทางพรรคประชุมจัดการปัญหาผู้ว่าฯ กทม.ดื้อแพ่งไม่ให้ความร่วมมือตรวจสอบทุจริต “องอาจ” ทวนความจำเคยมีมติขับ ส.ก.มาแล้ว พร้อมระบุผู้ว่าฯ กทม.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ส่วนถึงขั้นต้องขับออกจากพรรคหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูล ให้สติ “สุขุมพันธุ์” ความน่าเชื่อถือสำคัญกว่าตำแหน่งทางการเมือง ยัน กทม.ต้องเปิดข้อมูลพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่หวั่นหากประชุมพรรคไม่ได้ มีแผนสองเคลียร์ปัญหาแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พื้นที่ กทม. แถลงเกี่ยวกับปัญหาการประสานงานระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กับอดีต ส.ส.ในพรรค และปัญหาการบริหารงานใน กทม.ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ทำหนังสือถึง คสช.ให้ทบทวนคำสั่งที่ 57 โดยมีเนื้อหาสองหน้ากระดาษ สรุปสาระคือขอให้ยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองจัดกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากก่อให้เกิดผลกระทบ 4 ด้าน คือ 1. พรรคการเมือง ยังดำรงอยู่ กิจการงานธุรการของสำนักงานต้องดำเนินต่อไป มีค่าใช้จ่ายประจำการระงับการจ่ายเงินกองทุนและห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคกระทบสถานะการเงินของพรรค โดยเงินที่เหลืออยู่ก็จะบริหารได้อีกระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากให้รับเงินบริจาคได้ตามปกติก็จะทำให้พรรคบริหารงานต่อไปได้จากเดิมที่เคยหักจากเงินเดือน ส.ส.แต่ขณะนี้ทำไม่ได้
2. พรรคตอบสนองการปฏิรูปประเทศและพรรคการเมือง โดยเห็นว่าประชาชนควรจ่ายเงินบำรุงพรรค มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การสรรหาผู้สมัคร มีความจำเป็นต้องรับสมัครสมาชิกพรรคได้ แต่ขณะนี้ทำไม่ได้ อีกทั้งข้อบังคับพรรคเมื่อบวชก็ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ เมื่อไม่ให้มีการรับสมัครสมาชิกพรรคคนเหล่านี้ก็สมัครไม่ได้ และถ้าสมัครไม่ครบหนึ่งปีก็ไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ หากพรรคจัดประชุมได้จะทำให้สมาชิกพรรคให้ความเห็นอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปพรรคการเมืองและประเทศต่อไป
4. พรรคมีสมาชิกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งพรรคต้องรับผิดชอบทั้งการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ต้องมีการประชุมเพื่อตั้งกรรมการตรวจสอบทางวินัยกรณีที่มีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณ หรือลงโทษสมาชิกตามความจำเป็น จึงขอให้ คสช.ทบทวนประกาศฉบับที่ 57 เพื่อให้ดำเนินการได้โดยยืนยันว่าจะไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือกระทบความมั่นคง โดยในหนังสือไม่ได้ขอให้เปิดการประชุมแต่เป็นการขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมตามคำสั่งที่ 57เท่านั้น ซึ่ง คสช.ได้ลงเลขหมายรับไว้แล้ว
ทั้งนี้ หาก คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจะมีการพิจารณาในทุกกรณี เกี่ยวกับคนของพรรคที่ทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง กทม.ด้วย ซึ่งขณะนี้มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการบริหารงาน พรรคมีความรับผิดชอบในฐานะต้นสังกัดของผู้ว่ากทม. ดังนั้นต้องรับผิดชอบต่อประชาชนกรุงเทพฯ ที่เลือกคนของพรรคด้วย โดยเฉพาะการกล่าวหาทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ พรรคต้องตรวจสอบให้ประชาชนเห็นว่าการดำเนินการเรื่องเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร
อย่างไรก็ตาม หากไม่ยกเลิกคำสั่งก็ต้องมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ประชาชนผิดหวัง โดยหัวหน้าพรรคอาจปรึกษากับคนที่เกี่ยวข้องและผู้ใหญ่ภายในพรรคว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ถ้า คสช.ไม่ทบทวนคำสั่งดังกล่าว จึงหวังว่า คสช.จะเห็นเจตนาว่าพรรคสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง แต่จะดำเนินกิจกรรมรับสมาชิกพรรค ซึ่งจะไม่มีการรณรงค์ตามปกติเพียงแต่ประกาศให้รับทราบเท่านั้น
นายองอาจกล่าวว่า เมื่อเปิดประชุมก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคว่าจะหยิบยกเรื่องใดมาหารือ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องของ กทม.อยู่ในความสนใจของประชาชนและมีการกล่าวหาเรื่องความไม่โปร่งใส พรรคต้องรับผิดชอบทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้นร่วมกับผู้บริหาร กทม. เพราะในช่วงรณรงค์หาเสียงพรรคให้ความมั่นใจว่าจะดูแลคนของพรรคเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องติดตามตรวจสอบด้วยส่วนหนึ่ง
“ที่ผ่านมาพยายามประสานงานกับผู้ว่าฯ กทม. แต่ระยะหลังเกิดความติดขัดในการติดต่อประสานงานเรื่องการบริหาร กทม. โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคเคยมีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้ว่าฯ กทม.ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือนำเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนไปหารือกับผู้ว่าฯ กทม. หรือประสานงานโดยตรงกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ระยะหลังเมื่อเริ่มมีคนของพรรคกล่าวหาการบริหารงานของกทม.ทำให้การสื่อสารต่อกันมีความยากลำบากมากขึ้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถติดต่อกันได้เพราะไม่รับโทรศัพท์หัวหน้าพรรค แม้ว่าหลายเรื่องผู้ว่าฯ กทม.จะทำงานตอบสนองนโยบายพรรคได้ แต่หลายเรื่องต้องปรับปรุงและเมื่อมีการกล่าวหาว่าทุจริตก็ต้องดำเนินการให้โปร่งใสเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าการบริหารงานของ กทม.จะไม่มีเรื่องเหล่านี้หรือถ้ามีก็ต้องจัดการเอาจริงเอาจังในการป้องกันปราบปรามเรื่องเหล่านี้
นายองอาจกล่าวว่า ถ้ามีการทบทวนคำสั่ง คสช.เราจะดูข้อเท็จจริงว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างโดยดูตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่นมีการร้องขอข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารแต่กลับไม่มีการเปิดเผยให้ผู้ร้องรับทราบก็ต้องมีการหาข้อเท็จจริงต่อไปเพราะอดีต ส.ส.เป็นผู้แทนของประชาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ซึ่งถ้าพรรคเปิดประชุมได้จะพยายามทำให้ดีที่สุดไม่ได้ละเลยแต่รับผิดชอบทุกคะแนนเสียงของประชาชน ทั้งนี้เห็นว่าความเชื่อถืออยู่เหนือตำแหน่งทางการเมืองแม้ว่าผู้ว่าฯ กทม.จะไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค แต่พรรคก็ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าพรรครับผิดชอบด้วยการพยายามทุกวิถีทางทำความจริงให้ปรากฎ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีมติขับไล่ ส.ก.ของพรรคที่ทำตัวไม่เหมาะสมมาแล้ว ดังนั้นหากทำงานด้วยความโปร่งใสก็ต้องให้ตรวจสอบได้ ส่วนปัญหาของผู้ว่าฯ กทม.จะไปถึงขั้นต้องขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่นั้น ต้องดูข้อมูลทั้งหมดหากประชุมได้ว่ามีน้ำหนักเพียงพอที่จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
“เราไม่ได้ทะเลาะกันหรือมีปัญหากับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นการส่วนตัว แต่ผมทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เมื่อมีปรากฏการณ์ใดๆ เกิดขึ้นที่ต้องทำให้เกิดความถูกต้องเหมาะสมก็ต้องทำ ผมคิดว่าถ้ามีโอกาสคุยจะดีกว่านี้แต่ท่านยังเป็นสมาชิกพรรคก็ต้องเชื่อมั่นในพรรค อยากให้ปัญหาจบลงโดยประโยชน์อยู่ที่พี่น้องประชาชนมากที่สุด”