คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว นัดศุกร์นี้ประกาศยื่นหนังสือครั้งสุดท้ายถาม “บิ๊กตู่” ยังโอบอุ้มพุทธศาสนาอยู่หรือไม่ ขอร้องจี้ กสทช.เร่งออกใบอนุญาตฉบับจริง “คลื่นวิทยุธรรมะ” แทนการโอบอุ้มคลื่นนายทุน แถมลิดรอนสิทธิเดิม รวมถึงไม่ให้มีวิทยุเกิดใหม่ เผย รับไมได้ 3 เดือนไฟเขียว “สปริงนิวส์” ได้คลื่น ปณ.1 ที่ กสทช.ออกใบอนุญาตให้ทั้งที่กฎหมายห้ามเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กรรมการ กสทช.กลับไปออกใบอนุญาตให้สำนักงาน กสทช. แตกต่างตาก “สถานีเสียงธรรมฯ จ.กระบี่” ที่ขอใบอนุญาตตั้งแต่ปี 54 อุทธรณ์หลายครั้งแต่กลับไปไล่จับ ทั้งที่คลื่นก็ว่างเช่นกัน
วันที่ (24 พ.ย.) ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว คณะสงฆ์สายพระกรรมฐาน ประกอบด้วย พระครูวัชรธรรมาจารย์ (พระอาจารย์จิรวัฒน์) พระอาจารย์รัฐวีร์ ฐิตวีโร พระสงฆ์พร้อมนักวิชาการ ร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นหนังสือเป็นครั้งสุดท้าย ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.00 น.วันศุกร์ที่ 27 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นตัวแทนประชาชนผู้สนใฝ่ธรรมเจรจาให้ผู้บริหารคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยุติการเหยียบย่ำคลื่นวิทยุธรรมทั่วประเทศ ที่ถูก กสทช.สั่งห้ามออกอากาศสถานีเสียงธรรมเพื่อประชาชนและประชาชนผู้สนใจธรรม (สถานีเสียงธรรมฯ) 15 แห่ง โดยเด็ดขาด (รวมทั้งสถานีหลวงปู่ลี) ทั้งที่คลื่นยังว่างอยู่ เช่น สถานีเสียงธรรม จ.กระบี่ จ.เชียงราย จ.ปราจีนบุรี จ.กาญจนบุรี และสถานีฯวัดป่ากุสลธโร จ.เลย รวมเครือข่ายสถานีเสียงธรรมฯ ทั่วประเทศ 119 สถานี
“จะไปร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์นี้ ว่านายกฯ ยืนยันแนวนโยบายของท่านอุปถัมย์พุทธศาสนาจริงหรือไม่ ถ้าอุปถัมภ์จริง กสทช.ไม่ควรดำเนินการเช่นนี้ หรือจะดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการลดทอนสถานีวิทยุรายเดิม 314 สถานีเอามาจัดสรรให้พุทธศาสนา หรือผู้ทำประโยชน์สาธารณะ หรือไม่” พระอาจารย์รัฐวีร์กล่าว และว่า เราเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความเป็นธรรม จะไปพบนายกฯ ครั้งสุดท้าย ถ้านายกฯ ยังไม่ทราบอีก คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัวจะเห็นว่านายกฯ เห็นด้วยกับ กสทช. หรือเชื่อ กทสช. แทนที่จะเชื่อผลวิจัยต่างๆ ที่ออกมา เราจะยื่นครั้งสุดท้าย ท่านจะไม่รู้ไม่ได้ ให้โอกาสสุดท้ายแล้ว
“ถ้าเลยจากนี้ ครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ ได้คุยกันหมดแล้ว ตามหลักธรรมวินัย ถ้านายกฯ ยังเชื่อในการกระทำผิด เราคบค้ากับท่านไม่ได้ ทางพระธรรมวินัยก็พิจารณาได้ทันทีว่าครูบาอาจารย์สายเราเคยคว่ำบาตรผู้ที่มีอุปสรรคในการเผยแผ่ศาสนา ถ้ายังเพิกเฉยอีก ครูบาอาจารย์คงไม่เพิกเฉยแล้ว มีข้อเดียวที่จะลงโทษฆราวาสได้ ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ห้ามทำด้วยความเกลียดชัง ห้ามกระทำโดยมีอคติ จะมีการพิจารณา “คว่ำบาตร” แม้แต่นายกฯ เองก็ตามหากไม่มีการอุปถัมภ์ศาสนา และหากไม่เห็นในการรักษาผลประโยชน์ผู้ทำเพื่อสาธารณะ แต่ไปรักษานายทุนก็พิจารณาเพื่อถวายฎีกาต่อไป
กรณีนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่พบว่า ได้กำหนดให้กำลังส่งของวิทยุกระจายเสียงสำหรับกิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ และความสูงของเสาอากาศวัด โดยไม่นำกฎเกณฑ์นี้ไปบังคับใช้กับคลื่นหลักด้วย จึงมองว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อสถานีวิทยุที่สร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณะ
พระอาจารย์จิรวัฒน์ ศิษย์หลวงตามหาบัว กล่าวว่า กสทช.ไม่ดำเนินการตามแผนแม่บทที่ควรทำ คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว เคยร้องเรียน และส่งข้อมูลผ่านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กว่า 50 ครั้ง ร้องเรียนไปยังผู้มีอำนาจแต่กลับถูกเพิกเฉย แทนที่จะชี้แจงให้เกิดความโปร่งใส รัฐบาลก็มีนโยบายให้มีหมู่บ้านศีล 5 แต่กลับมาตัดเครื่องมือในการเผยแพร่ธรรมะสู่ประชาชน เพราะยุคนี้วิทยุกระจายเสียง ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถเผยแพร่ธรรมะให้กับประชาชนที่สนใจธรรมะได้ง่ายที่สุด แต่กลับมาสะดุดเมื่อเกิดความไม่ชัดเจนของผู้มีอำนาจ
พระอาจารย์รัฐวีร์ ฐิตวีโร หรือพระอาจารย์กอไผ่ ศิษย์หลวงตามหาบัว กล่าวว่า สถานีวิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะในเชิงประเด็น ตามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์แห่งชาติ กทช.ทั้ง 2 ชุดที่ผ่านมา เห็นว่า ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ จึงยอมให้ลงทะเบียนตามเครื่องส่งและความสูงเสาที่ใช้อยู่จริง แต่ตอนนี้ อีก 1 ปี กสทช.จะครบวาระ 6 ปี กสทช.จะต้องออกใบอนุญาตฉบับจริง เป็นวิทยุภาคประชาชนเชิงความสนใจแต่กลับยังไม่ทำ ลิดรอนสิทธิเดิม รวมถึงไม่ให้มีวิทยุเกิดใหม่
“เราอดทนที่สุดมาแล้ว 5 ปี แทนที่จะออกใบอนุญาตฉบับจริง โดยเฉพาะการดำเนินการของ กสทช. จะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่ระบุว่าต้องอุปถัมย์ศาสนาที่ต้องนำหลักธรรมคำสั่งสอนจากศาสนามาเผยแพร่สู่ประชาชนให้ประชาชนมีศีล 5 แต่ กสทช. กลับกดขี่ สร้างกฎเกณฑ์เพื่อเล่นงาน กลุ่มวิทยุศาสนา บีบกำลังส่งให้ต่ำ กำลังส่ง 500 วัตต์ เสาสูง 60 เมตร เช่น ข่มขู่ให้สถานีเสียงธรรมฯ จ.สุรินทร์ และ จ.ร้อยเอ็ด ต้องลดเสาลงทันที ปิดกั้นสถานีเกิดใหม่ โดยไม่ออกใบอนุญาตและยังดำเนินคดีกับสถานีเสียงธรรมฯ จ.กระบี่ ทั้งที่กฎหมายบัญญัติให้ส่งเสริม และยังฝ่าฝืนนโยบายรัฐซึ่งต้องอุปถัมย์คลื่นศาสนา ด้วยการดำเนินคดีกับสถานีเสียงธรรมฯ จ.ลพบุรี”
พระอาจารย์รัฐวีร์กล่าวว่า แต่กลับกัน กสทช.กลับเพิกเฉย ไม่ตรวจสอบกลุ่มวิทยุรายเดิม 314 สถานี ที่กระทำผิดจงใจไม่ปฏิรูปสื่อเพื่อเอื้อนายทุนให้ผูกขาด เพราะกฎหมายบัญญัติให้ยุติสัญญาสัมปทานแล้วจัดสรรใหม่ โดยผู้ครองคลื่นต้องประกอบการเอง แต่กสทช.ฝ่าฝืนทุกกรณี เช่น เอื้อให้มีกำลังส่ง 1,000-10,000 วัตต์ เสาสูง 100 เมตร ในกรณีของสถานีทหารบก FM 94 กทม. (คลื่นบริษัทแกรมมี่) และสถานีอื่นๆ ที่ใช้กำลังส่งสูงถึง 20000 วัตต์ เพิกเฉยให้สถานีรัฐที่สัมปทานคลื่นแก่นายทุน ใช้เสาสูงได้ถึง 160-300 เมตร โดยไม่เคยตรวจจับหรือบังคับคดี
“กรณีของ คลื่น ปณ. 1 (กรมไปรษณีย์โทรเลข) ที่ กสทช.ออกใบอนุญาตให้ สถานีสปริงนิวส์ ทั้งที่กฎหมายห้ามเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน โดยกรรมการ กสทช.ไปออกใบอนุญาตให้กับสำนักงาน กสทช.ตัวเอง ควรทำหรือไม่ และเอาไปให้สปริงนิวส์มาใช้คลื่นเพียงแค่ 3 เดือน ต่างกับสถานีเสียงธรรมฯ ที่ จ.กระบี่ เปิดมาตั้งแต่ ปี 2554 ขออนุญาต ขออุทธรณ์มาหลายครั้ง แต่กลับไปจับทั้งที่สถานีก็ว่าง อย่างไรก็ตามกรณีของสปริงนิวส์ พระไมได้จะอะไรมาก แต่การดำเนินการเช่นนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนกลุ่มเดิมหรือไม่ เรารับไม่ได้ ถ้าท่านทำอย่างเป็นธรรมก็จบ แต่กลับปิดบังผลการตรวจสอบสัญญาสัมปทาน อำพรางวันหมดอายุให้นายทุนได้ใช้คลื่นอย่างไม่มีวันจบสิ้น เหล่านี้ผิดกฎหมายทั้งสิ้น” พระอาจารย์รัฐวีร์กล่าว
ศิษย์หลวงตามหาบัวกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาวิทยุเสียงธรรมดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย สถานีวิทยุเดิมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนและประชาชนผู้สนใจธรรม (มธป.) ได้ยื่นจดทะเบียนในเงื่อนไขทางเทคนิค “วิทยุที่มีลักษณะเฉพาะ”อย่างถูกต้องตามกฎมาย ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กทช.) ชุดที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ปี 2552 และ 2553 มีมติให้อนุญาต จึงเป็นเงื่อนไขทางเทคนิคที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ กสทช.ไม่สามารถละเมิดได้ เนื่องจาก กสทช. ไม่สามารถกระทบกระเทือนการที่ กทช.ให้อนุญาตไว้แล้วได้ (ตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2551) รวมทั้งมีผลวิจัยรองรับจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีการรับฟังความคิดเห็นเรื่องวิทยุที่มีลักษณะเฉพาะ 4 ภาค มีการทำโฟกัสกรุ๊ปถูกต้องให้เทียบเท่าคลื่นหลัก เช่น สถานัวิทยุรัฐสภา
ส่วนสถานีเกิดใหม่จำนวน 15 สถานี ซึ่งเป็นสถานีวิทยุที่จัดตั้งในคลื่นความถี่ที่ว่าง และยังดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรธุรกิจ กสทช.จึงต้องส่งเสริม มิใช่ปิดกั้น เพราะเจตนารมย์กฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ของรัฐสภาหน้า 39 ได้อธิบายคำว่า “วิทยุภาคประชาชน” ให้หมายความร่วมถึง “ผู้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการด้วย”
ในหน้า 40 ของเอกสารสืบค้นเจตนารมณ์กฎหมาย ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “ภาคประชาชน”มีความหมายถึงผู้ประกอบการกิจการจากภาคประชาชนที่ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ โดยภาคประชาชนสามารถประกอบกิจการได้ทั้งบริหารสาธารณะและบริการชุมชน... และหมายความถึงบุคคลใดก็ได้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ ก็ย่อมมีสิทธิในการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ตามที่กฎหมาย มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ว่า “โดยในส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต้องจัดให้ภาคประชาชนไดใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกอบกิจการ”