สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทีโอที ยื่นศาลปกครองกลาง ฟ้อง กสทช. ขอให้ชี้ขาดสิทธิการใช้คลื่นความถี่สิ้นสุดลงเมื่อใด หลังเตรียมนำคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปประมูล ชี้ ยังมีสิทธิ์ถึงปี 68 ปัดขวางประมูล
วันนี้ (4 พ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองประธานสหภาพฯ เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลขาธิการ กสทช. และพวกรวม 24 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รวมทั้ง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ชุดก่อน ที่จะมี กสทช. เกิดขึ้น เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 24 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลชี้ขาดสิทธิการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ.ทีโอที ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 และบทเฉพาะกาลมาตรา 79 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. การปกระกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ว่า สิ้นสุดลงเมื่อใด ระหว่างวันที่ 3 ส.ค. 2568 ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม
หรือ วันที่ 30 ก.ย. 2558 ตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หมวด 4 เงื่อนไขเฉพาะรายบริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ (รหัสบริการ 3-2-6) ข้อ 3.1 หากศาลชี้ขาดว่าสิทธิการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ.ทีโอที สิ้นสุดลงในวันที่ 3 ส.ค. 2568 ขอให้สั่งให้ กสทช. เพิกถอน หรือแก้ไข เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามหมวด 4 เงื่อนไขเฉพาะรายบริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ (รหัสบริการ 3-2-6) ข้อ 3.1 และข้อ 3.2 ให้สอดคล้องกับสิทธิใช้คลื่นความถี่ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตของ บมจ.ทีโอที รวมทั้งให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช. ชดเชยระยะเวลาที่ บมจ.ทีโอที ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้โดยให้ขยายระยะเวลาอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสำหรับการให้บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปเท่ากับระยะเวลาที่ บมจ.ทีโอที เสียสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 58 จนถึงวันที่ศาลปกครองมีคำสั่ง หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สิทธิการใช้คลื่นความถี่เป็นของ บมจ.ทีโอที
นายพงศ์ฐิติ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการยื่นฟ้อง เนื่องจาก กสทช. กำลังนำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นที่อยู่ในความครอบครองของ บริษัท ทีโอที และ กสทช. อ้างว่า หมดสัมปทานไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ออกมาประมูล แต่ สหภาพฯ เห็นว่า ยังคงมีสิทธิการถือครองคลื่นความถี่ต่อไปจนถึงปี 2568 และในสัปดาห์หน้า จะยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อขอระงับประมูล 4จี เฉพาะคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์
ส่วนที่ขณะนี้มีการกล่าวหาสหภาพฯ ต้องการจ้องล้มการประมูลนั้น นายพงศ์ฐิติ กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่มีเจตนาเช่นนั้น และต้องการให้พิจารณาว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ให้บริการค่ายมือถือบางค่ายที่เปิดให้บริการด้วยเทคโนโลยี 4จี อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่า หากการประมูลไม่ได้เกิดขึ้น เอกชนก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นได้ไปตามยุคสมัย สำหรับการยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ยื่นฟ้อง กทช. เดิมด้วย เพราะเป็นผู้ออกแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งหากไม่มีแผนแม่บท ก็ไม่สามารถทำให้ กสทช. นำคลื่นความถี่ของทีโอทีกลับไปประมูลได้