xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ผุดไอเดีย “ท่าเรือยอชต์” รับท่องเที่ยว - อนุมัติจำนำยุ้งฉาง - สั่งบอร์ดบินไทยแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี เผย ไปประชุมเอเปก และอาเซียน คุยเรื่องการค้าการลงทุน ชวนให้ความสำคัญป่าอาเซียน ขายฝันทำท่าเรือยอชต์ อ้างจะมีท่องเที่ยวชายฝั่ง เห็นมาจากสิงคโปร์ อนุมัติจำนำยุ้งฉาง แผนดูแลเกษตรกรรับมือภัยแล้ง บ่นให้ชาวนาปลูกพืชน้ำน้อยไม่ฟัง แถมบางแปลงบอกขอรับผิดชอบเอง ยันพนักงานการบินไทยประท้วงแค่ยื่นหนังสือ สั่งบอร์ดแก้ปัญหา ป้อง “จรัมพร” เพิ่งเข้ามาให้เวลาก่อน คดี “ฟิลลิป มอร์ริส” พยายามทำดีที่สุดแล้ว ถ้าแพ้ก็รับผิดชอบเหมือนคดีคลองด่าน ชี้ ปัญหาคนไม่ใช้หนี้ กยศ. ไม่รักษากติกา พยายามแก้ปัญหา โอดใส่เงินหนุนทำผิดพอกหางหมู ประเทศล่มจม

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเดินทางไปประชุมเอเปคและอาเซียนที่ต่างประเทศมีความเข้าใจในประเทศไทยมากขึ้นหรือไม่ ว่า ก็เข้าใจ เขาพูดกับตนอย่างหนึ่ง สภาเขาพูดอีกอย่างก็เรื่องของเขา ทำไมจะต้องเอาอันนี้มาใส่อันนี้ให้เข้าใจผิด ก็เขาดีกับตน เขาพูดดีกับตนตนก็พูดดีกับเขา ส่วนภาพที่ออกมาดูมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันนั้น เพราะว่าใกล้ชิด เพราะนั่งติดกัน ก็ทักทายกันคุยกันแค่นั้น เราก็ต้องรู้ว่าอันไหนคุยได้มาก อันไหนคุยได้น้อย อย่าคุยส่งเดชไป เขาก็จะไม่คุยด้วย ก็คุยเท่าที่คุยได้ แต่ตนถือเอาศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยประเทศไทยไปกับตัว ไม่ใช่แต่ประยุทธ์อย่างเดียว ตนไปก็เหมือนคนไทย 70 ล้านคนไปกับตน ดังนั้น พูดอะไรจะต้องมีน้ำหนัก

“และผมก็รู้จุดอ่อนของผมว่าผมมาแบบนี้ ผมจะยังไงให้เขายอมรับได้ว่า เออ ไอ้นี่มันก็ฉลาดเหมือนกันนี่หว่า มันก็เป็นเหมือนกันนี่หว่า ไม่ได้โง่ตลอดเวลา ไปไหนประจานตัวเองผมก็ต้องปรับปรุงตัวเองของผม ผมไม่ว่าใครหรอก ท่านก็เป็นหนึ่งใน 70 ล้านคน มีศักดิ์ศรีของท่าน ไปไหนมาไหนทำอะไรไม่ดีก็นึกถึงคนอื่นเขาบ้าง นึกถึงประเทศไทยบ้าง ไม่นึกถึงอะไรบ้าง เอาแต่ว่าทำยังไงจะได้เงินได้สตางค์ใครเขาให้ก็เอาผิดกฎหมายก็ไม่เป็นไร มันก็บ่อเกิดของความฟอนเฟะทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนกล่าวในที่ประชุม ครม. ถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตนเดินทางไปประชุมเอเปคและอาเซียนว่า มีการพูดคุยในประเด็นอะไรบ้าง เราจะต้องเดินหน้าประเทศของเรากับเขาอย่างไร ที่จะเจรจาการค้าการลงทุนกับแต่ละประเทศและกลุ่มประเทศอย่างไร เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นฐานของบีโอไอและเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งเรื่องที่เป็นคลัสเตอร์ และซูเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งตนได้ย้ำไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่เข้าใจกันทั้งหมดทุกภาคส่วน เพราะถ้าไม่เข้าใจกันทุกอย่างก็จะสูญเปล่า ซึ่งแนวโน้มน่าจะดีขึ้นหลังจากตนได้ไปพบปะกับนักธุรกิจทุกประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย ก็มีความเข้าใจมากขึ้น และรับจะนำไปทบทวน และดำเนินการให้เกิดการขยายการลงทุนในระยะต่อไปให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ ตนยังพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือไคลไคลเมทเชนจ์ (Climate Change) สภาวะโลกร้อน ที่เราต้องทำให้ผลอย่างจริงจึง ซึ่งตนได้ชวนประเทศสมาชิกอาเซียน และในอาเซียนบวกสาม บวกหกว่า ต้องให้ความสำคัญกับป่าของอาเซียน ที่ตนพูดมาตลอดตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าที่มีคุณภาพให้ได้ และลดการบุกรุกทำลายป่าให้ได้ ต้องทำการเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม ใช้พื้นที่ให้น้อยลง ปรับปรุงด้วยการใช้เทคโนโลยีความรู้ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ในพื้นที่ที่เล็กและใช้น้ำให้น้อยลง เพราะจะมีผลกระทบต่อเนื่องของการใช้น้ำ ซึ่งตนก็บอกว่าอาเซียนจะมีปัญหามากกว่าที่อื่น เพราะเราอาศัยน้ำจากน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ถ้าฝนไม่ตกก็กระทบการอุปโภคบริโภค การเกษตร และระบบนิเวศน์ เมื่อขาดน้ำก็จะตามมาด้วยผลิตผลทางการเกษตรลดลง ก็ต้องออกนอกวงจรการผลิต ที่ตามมาก็คือโรคระบาด เมื่อมีโรคระบาดประชาชนก็จะไม่มีคุณภาพ ประเทศก็ล้มลง นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมของเราด้วยการเรียนรู้ว่าเราจะอยู่กับอนาคตได้อย่างไร ในทุกอาชีพ ส่วนถ้าจะทำอุตสาหกรรมตนก็เน้นไปว่าต้องนึกถึงประเทศที่เราไปลงทุนด้วย ว่าเราจะทำยังไงว่าเราจะไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเขามากจนเกินไป เพราะถ้าได้ผลประโยชน์ตอบแทน ได้กำไร แล้วก็ย้ายฐานการผลิตไปเรื่อย ๆ โลกก็มีปัญหาไปเรื่อยๆ ตนก็ฝากไว้ในเวทีโลกด้วย

“เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนทั้งสองทาง คือ ภาคเศรษฐกิจ และการลงทุนเพื่อเป็นอนาคตของประเทศ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีเงินในการพัฒนาประเทศ เราต้องร่วมมือกับประเทศอื่นในการเชื่อมโยง วันนี้ต้องสร้างทั้งในและนอกประเทศ ให้สัมพันธ์และตรงกับศักยภาพ ถ้าในประเทศเข้มแข็งจากภายใน เริ่มจากชุมชนและท้องถิ่นขึ้นมา” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีการพูดถึงเรื่องของไมโครเอสเอ็มอี พวกร้านค้าปลีก โชวห่วยว่าจะดูแลอย่างไร ตนได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไปดูว่ามีกลไกในการขับเคลื่อน คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารต่าง ๆ แต่ปัญหาคือ มีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมาก หรือประมาณ 3 ล้านกว่าราย และอยู่ในกลุ่มห่วงโซ่การผลิตกว่า 90% ที่จะต้องพัฒนาคุณภาพเขา เพราะนวัตกรรมจะต้องเกิด ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำยังไงจึงจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ถ้ายังทำธุรกิจแบบครอบครัวมันไปไม่ได้แน่นอน เพราะสินค้าที่เราจะต้องส่งไปยังห่วงโซ่การผลิตอื่น ๆ เขาพัฒนาไปแล้ว แต่เรายังอยู่ที่เดิม ดังนั้น ต้องพัฒนาให้ดีมีความแตกต่าง เมื่อนำไปทำมูลค่าเพิ่มจะได้มูลค่าที่สูงขึ้น

“วันนี้การประชุมเอเปกและอาเซียน พูดถึงตรงนี้มากในเรื่องของการส่งเสริมเอสเอ็มอี เพราะเป็นเครือข่ายสัมพันธ์ของการประกอบการธุรกิจ ซึ่งไม่มีที่ไหนทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้ ไม่มีหรอก แต่มันต้องมีบริษัทย่อย ๆ ลงไป ผลิตรถยนต์ก็ต้องมีชิ้นส่วน ชิ้นส่วนก็ทำกันคนละที่ นั่นแหละที่เรียกว่าเอสเอ็มอี มันถึงประกอบออกมาเป็นรถยนต์หนึ่งคัน เครื่องบินแอร์บัสที่ฝรั่งเศส ก็ไม่ได้สร้างที่นั่นที่เดียว แต่เขาสร้างตัวถัง หาง มาจากหลายประเทศ ดังนั้น เราต้องทำให้สินค้าขั้นต้นของเราให้มีคุณภาพเขาจึงจะมาซื้อสินค้าของเรา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ ยกตัวอย่างประเทศที่มีขนาดพื้นที่ของประเทศเล็ก อาทิ สิงคโปร์ ไทเป ฮ่องกง ซึ่งมีเอสเอ็มอีเหมือนประเทศไทยทั้งสิ้น จำนวนอาจจะน้อยกว่าไทยแต่เขามีความเข้มแข็ง นั่นคือ ปัญหาของเรา ซึ่งทุกรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จะได้ไม่เหนื่อยอย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะตนไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จขนาดไหน แต่อยู่ที่ความร่วมมือของทุกคนที่ตนประกาศไปแล้วว่าขอให้เข้ามาจดทะเบียนให้เรียบร้อย มาเรียนรู้เรื่องระบบการเงิน ทำบัญชี ระบบภาษี ไม่เช่นนั้นถ้าไม่เข้ามาก็จะพัฒนาไม่ได้

นายกฯ กล่าวถึงการท่องเที่ยวว่า ตนก็ได้พูดเช่นกันถึงการจัดการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ทุกประเทศก็ตั้งใจฟังโดย เฉพาะอาเซียนว่าจะร่วมมือกันได้ตรงไหน ซึ่งปลายปีนี้เป็นต้นไปจะมีการท่องเที่ยวไปถึงเวียดนาม ที่มีการเปิดการท่องเที่ยวทางรถยนต์ได้เลย ทางเรือก็จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวชายฝั่งด้วยเรือขนาดไม่ใหญ่มากที่จะแวะไปเรื่อย ๆ และจะเปิดการท่องเที่ยวในเรือขนาดใหญ่ ซึ่งตนเห็นที่ประเทศสิงคโปร์ที่เรือเขารับได้ 5,000 คน ข้างในเรือก็มีทุกอย่างเหมือนเมืองหนึ่งเมืองที่ตระเวนไปน่านน้ำและเมืองต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคนอยากมาแต่เรือครูซมาไม่ถึง ถ้ามาก็อยู่กลางทะเลต้องเอานำเรือเล็กออกไปรับเขาก็ไม่อยากมามากนัก

“ถ้าเราทำท่าเรือยอชต์ให้เขา เขาจะเข้ามาและอยู่นานขึ้น เราก็ต้องทำแพคเกจ ผมก็หารือกับเวียดนามและประเทศต่าง ๆ เขาก็เห็นด้วยหมด สิงคโปร์ก็พร้อมจะลงทุนกับเรา ผมก็คิดว่าควรจะมาไทย แล้วจะไปเวียดนามหรือไปไหนก็ว่าไป เพราะบริษัทเดินเรือพวกนี้ เราอยากหาที่หมายเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ทั้งอาหาร การใช้จ่ายเงิน ของที่ระลึก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีการรายการรายงานในที่ประชุม ครม. โดยยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตั้งศูนย์แนะนำการปลูกพืช และมีการเดินสอนตามหมู่บ้าน แต่ไม่ได้ไปทุกบ้าน เพราะบางคนไม่อยู่บ้าน หรือไม่ไปแล้วก็ไม่ฟัง ซึ่งเขาก็ขอกลับมาว่า ก็รู้ว่าน้ำมีน้อย แต่ทำไม่ได้ มันยากเกินไปสำหรับเขา ไม่ถนัด ไม่เคยทำ กลัวตลาด ก็กลัวแต่มีปัญหา ทั้งที่รัฐเตรียมไว้หมดแล้ว มีโครงการให้สมัครใจแล้วมีการหาเมล็ดพันธุ์ให้ก็ยังไม่เอาเลย แต่จะขอปลูกข้าวอย่างเดิมและจะขอรับผิดชอบเอง

“มีการรายงานมาว่า มีการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ไม่ควรจะปลูกข้าวที่เป็นไปตามที่รัฐบาลประกาศก็ยังมีการเพาะปลูกหลายแสนไร่ ถามว่าถ้าไม่มีน้ำจะทำยังไง เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเขารับผิดชอบเอง เขาก็ไม่เรียกร้องจากใคร ผมก็ไม่รู้ว่าจะจริงหรือเปล่า แต่ทำไงได้ จะไปไล่จับเขาก็ไม่ได้ ผมจึงบอกว่าเราต้องสอนเรื่องการรับรู้สิ่งดีดีให้กับเขา ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีใครนอกจากผมที่พูดคนเดียว ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยเขา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุมวันนี้มีการอนุมัติงบประมาณในการเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการจำนำยุ้งฉาง ที่เกษตรกรจะได้เก็บไว้เมื่อขายได้ราคา ต้องการลดภาระหาคลังหรือสถานที่รับฝากข้าว ซึ่งเกษตรกรเคยมียุ้งฉางของตัวเอง แต่มีโครงการอย่างที่ว่ากันมาก็โยนมาที่รัฐบาลกันหมด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนะธรรมกันหมด และนอกจากนี้ก็เป็นเรื่องของการอนุมัติแผนการดูแลเกษตรกรว่าจะทำอย่างไรในการรับมือภัยแล้ง

ส่วนกรณีที่กระแสข่าวการนัดชุมนุมของพนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 26 พ.ย. ว่า ได้รับการชี้แจงแล้วว่า พนักงานการบินไทยไม่มีการนัดชุมนุมหรือหยุดงาน แต่เขาเพียงแค่ขอยื่นหนังสือ ซึ่งหากนัดกันหยุดงานไปแล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาอยู่ดี เพราะปัญหากำลังแก้อยู่ รายได้ก็ไม่มีต้องกำเนินการปรับแก้ลดค่าใช้จ่าย

“ผมสั่งการไปแล้วว่าจะไม่ให้มีผลกระทบต่อต่อข้าราชการและพนักงานระดับล่าง เพราะเงินเดือนเขาเท่านั้น จะไปโทษพนักงานได้อย่างไร ต้องไปโทษผู้บริหาร โทษซีอีโอ โทษบอร์ด ผมถึงได้สั่งบอร์ดให้ไปแก้ปัญหา แล้วอย่าโยนปัญหาไปข้างล่าง แต่จริง ๆ แล้วบอร์ดชุดใหม่ที่ตั้งเข้ามา เป็นคนใหม่ซะส่วนใหญ่ เขากลับต้องรับปัญหาที่พอกพูนมหาศาลและหมักหมมมา ตั้งแต่รัฐบาลอะไร ไหนลองตอบมาสิ รัฐบาลอะไร นั่นแหละเขาถึงบอกว่าประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์ แต่มันไม่สมบูรณ์ มันมีจุดอ่อนของมันอยู่ ซึ่งเราต้องแก้จุดอ่อนตรงนั้นให้ได้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีเรื่องแบบนี้ขึ้นมาอีก เครื่องบินที่ล้นสนามบิน ใครเป็นคนซื้อทุกคนรู้หมด แล้วทำไม่ก่อนที่ผมจะขึ้นมาอยู่ตรงนี้ ผมเป็นผู้บัญชาการทหารบก ไม่เคยเห็นว่าจะมีใครไปถามนายกฯเก่า ๆ ว่า ทำไมไม่ทำอะไร อยู่ไหนกันหมด นักข่าวทำเนียบฯ ไม่มีหรือ ทำไมไม่ถามถ้านักข่าวถามตนสองคำถามแล้วตนเดินหนี แบบนั้นชอบหรือไม่ บอกมาสิ เพราะอยู่พูดมากก็รำคาญจะเอายังไง ทุกคนเอาแต่ใจกันหมด ไม่ได้ดุว่าปัญหาร้ายแรงขนาดไหน ทุกคนต้องคิด เพราะมันร้ายแรง พร้อมที่จะล้มละลายกันทั้งหมด แล้วคนไทยจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน วันนี้ตนยืดหน้ากับเขาได้หมด เพราะตนทำให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณาการทำงานของ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาเป็นซีอีโอ เพิ่งเข้ามาทำงานต้องให้เวลาเขาทำงานก่อน ทำไมจะไปไล่เขาแล้วหรือยังไง เรื่องนี้มีบอร์ดดูอยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าของคดี บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด ว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว รัฐบาลไหนทำมา แล้วทำไมจึงมาถึงตน ซึ่งขณะนี้เวลาของคดีใกล้จะหมดแล้ว ตนจึงให้ฝ่ายกฎหมายไปดู เพราะคดีนี้มีทั้งวิกฤตและโอกาส โดยโอกาสที่เราจะชนะคดี ส่วนวิกฤต คือ หากเราแพ้คดีเราก็จะหนักหนาสาหัส ดังนั้น ต้องคอยดู เพราะตนทำหน้าที่ได้แค่นี้ เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม และเป็นคดีมีมายาวนานมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยบางส่วน และมีการตัดสินคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว โดยการใช้อำนาจอนุญาโตตุลาการไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการไปแล้วถูกต้อง

“โดยในกรณีเดียวกันที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ เมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาลจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ในเมื่อทุกคนหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบแล้วกัน เพราะอย่างไรถ้าเสียหายก็ต้องจ่ายเงินเหมือนกรณีคลองด่าน เอาอย่างนั้นแล้วกัน เพราะผมพยายามทำดีที่สุดแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า รัฐบาลพยายามเดินหน้าแก้ไขปัญหา โดยปัญหาคือกองทุนเดิมไม่ได้รับการชำระหนี้ เงินในกองทุนเหลือน้อย รัฐบาลก็ต้องใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือ และคณะกรรมการต่าง ๆ ไม่พร้อมทั้งเรื่องของการจัดระเบียบว่าจะทำอย่างไร ใช้หนี้กันอย่างไร ซึ่งปัญหาคือสิ่งที่ทุกคนไม่รักษากติกา จึงส่งผลกระทบกับคนรุ่นหลัง ทั้งนี้ อยากให้คิดว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากอีกรูปแบบหนึ่ง ก็ใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือในกองทุน มันก็จะผิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นพอกหางหมู แต่ประชาชนมีความสุขพอใจ แต่ประเทศก็ล่มจมได้


กำลังโหลดความคิดเห็น