xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิว! “ยรรยง พวงราช” ดิ้นแทนนาย สับ ม.44 นิรโทษทีมสางคดี ซ้ำเติมอุตสาหกรรมข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ โพตส์เฟซบุ๊คส่วนตัว “Yanyong Puangraj” ระบุว่า  “ยรรยง” วอน อย่ามัดมือชกชาวนา หวั่นกลไกตลาดข้าวล่มสลาย
“ลิ่วล้อนายหญิง” รุกถล่ม คสช.รายวัน ถึงคิว “ยรรยง พวงราช” สับรัฐบาล-คสช. สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ซัดทีมตรวจข้าว “เสียเวลา-ค่าใช้จ่าย” ตรวจสอบคุณภาพข้าวแบบซํ้าซ้อน-ไม่มีประสิทธิภาพ ชี้ ม.44 นิรโทษทีมสางจำนำข้าวซํ้าเติมลิดรอนสิทธิ “ชาวนา-เจ้าของโรงสีโกดัง-ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้รับความคุ้มครอง “คนเพื่อไทย”ขอรัฐทบทวนใช้ ม.44 แนะควรให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

วันนี้(2 พ.ย.) มีรายงานว่า หลังจากวานนี้ (1 พ.ย.) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พรรคเพื่อไทย ซึ่ง ปปช.ชี้มูลความผิดทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยอ้างว่า กระบวนการจีทูจี หากรวมถึงโครงการระบายมันสำปะหลังในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และโครงการระบายยางพารา ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ถือว่ามีความผิดฐานสมยอดหรือฮั้วไปด้วยนั้น

วันนี้ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ ในชุดเดียวกัน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Yanyong Puangraj” ระบุว่า “ยรรยง” วอน อย่ามัดมือชกชาวนา หวั่นกลไกตลาดข้าวล่มสลาย โดยมีใจความว่า

อย่าซํ้าเติมและมัดมือชกชาวนาและกลไกตลาดข้าวจนเขาไม่มีที่ยืนและล่มสลายเลยนะครับ

ผมเฝ้าเกาะติดการทำงานของรัฐบาลเรื่องข้าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะผมไดัเกิดความรู้จากประสบการณ์จริงว่า "จุดอ่อน" หรือ"จุดตาย" เรื่องข้าวมีอยู่ 2 จุด คือ 1.ชาวนา และ 2. กลไกตลาดข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โรงสีและโกดังเก็บข้าว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดการแปรรูปและเก็บรักษา หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูจุดอ่อนทั้งสองส่วนนี้โดยเร็วด้วยวิธีการที่ถูกต้องตรงจุดก็จะทำให้เกิดวิกฤติแก่ชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบอย่างแน่นอน

แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะทำตรงกันข้าม คือห้ามหรือชะลอการทำนา ทำให้ชาวนามีผลผลิตลดลงมาก โรงสีและโกดังขาดวัตถุดิบต้องประกาศขายโรงสีหลายร้อยโรง แถมราคาข้าวยังตกตํ่าต่อเนื่อง ทำให้กลไกตลาดตัวจริงคือชาวนาแทบหมดลมหายใจ

ล่าสุดที่ผมเห็นว่ารัฐบาลกำลังจะนำประเทศเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างรุนแรง คือ

1. การชะลอการขายข้าวคุณภาพดีแต่จะขายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ และ

2. การออกคำสั่ง คสช. ที่39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าสำหรับการบริหารจัดการข้าวรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าว

ความจริงรัฐบาลนี้เองที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบและยังสร้างความเสียหายต่อรัฐเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ดังนี้

1. ไม่เร่งรัดระบายข้าว โดยเฉพาะช่วงแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2557 แทบไม่ขายข้าวเลย ทั้งๆ ที่ชาวนาไม่มีข้าวขาย จึงไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบราคาข้าวของชาวนา และจนถึงขณะนี้ก็มีการขายข้าวจริงทั้งแบบเปิดประมูลและแบบจีทูจีน้อยมากเดือนละไม่กี่แสนตัน แถมยังไม่ระบายโดยวิธีอื่นๆด้วยเช่น เปิดประมูลในตลาดชื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) เป็นต้น

ถ้ารัฐบาลวางแผนขายเดือนละ 8 แสนถึง 1 ล้านตัน ก็คงไม่มีข้าวเหลือเป็นภาระแต่อย่างใด ความเสียหายจากการไม่เร่งระบายข้าวสรุปได้ดังนี้

1.1 ทำให้เสียค่าโกดัง ค่ารมยาและค่าประกันภัยเดือนละหลายพันล้านบาทโดยไม่จำเป็น

1.2 ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพตามระยะเวลา ยิ่งเก็บนานยิ่งเสื่อมมาก

1.3 ทำให้ราคาข้าวในตลาดตกตํ่า เพราะถูกพ่อค้ากดราคาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้า5% เหลือตันละ 6,500-7,800 บาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 9,000-11,000 บาท) ราคาขายส่งข้าวสารขาว5% เหลือตันละ 10,500-11,000 บาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 14,000-15,000) และราคาส่งออก FOB ข้าวขาว5%เหลือเพียง ตันละ 340-370 เหรียญสหรัฐ (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 450-500 เหรียญสหรัฐ)

นอกจากจะทำให้ชาวนาลดลงมากทั้งที่ผลผลิตลดลงแล้ว ยังทำให้ GDP ข้าวลดลง และเศรษฐกิจหมุนเวียนน้อยลงมาก

2. นอกจากนี้รัฐบาลยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพข้าวแบบซํ้าซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ (ทราบว่าจนถึงขณะนี้ยังตรวจอยู่) เพราะข้าว 18 ล้านตันคือ 180 ล้านกระสอบ ต้องเก็บเป็นกองๆกองละประมาณ 20,000 กระสอบวางเรียงกันสูงไม่กิน 30 กระสอบ ในทางปฏิบัติจึงทำได้เพียงสุ่มตรวจเท่านั้น ไม่สามารถรื้อตรวจสอบละเอียดได้เพราะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่สำคัญคือไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะมีเงื่อนไขในสัญญากำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะต้องรับผิดชอบถ้าปรากฎว่าข้าวไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปลอมปน และในทางปฏิบัติพ่อค้าที่จะเข้าร่วมประมูลข้าวก็จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของตัวเองไปตรวจดูคุณภาพข้าวก่อนเสนอราคาอยู่แล้ว

กรณีที่มีข่าวล่าสุดว่ารัฐบาลจะระบายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ ส่วนข้าวคุณภาพดีจะชะลอการประมูลจนถึงมีนาคม 2559 นั้น ถ้าดูเผินๆ เหมือนจะหวังดีและจะมีผลดีต่อชาวนาเพราะจะไม่ทำให้ข้าวราคาตกตํ่าในช่วงนี้ แต่ความเป็นจริงน่าจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะการเปิดประมูลข้าวเสื่อมโดยมุ่งจะให้ไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้นแทนที่จะเปิดประมูลทั่วไปจะทำให้ได้ราคาตํ่ามากแค่ตันละ 3,000-5,000 บาท จะมีผลทางจิตวิทยาเป็นการชี้นำตลาดให้ราคาข้าวส่วนรวมตกตํ่าลงไปอีก ส่วนการชะลอการขายข้าวคุณภาพดีออกไปหลังมีนาคม 2559 นอกจากจะทำให้ข้าวดีเสื่อมสภาพไปอีกและเสียค่าเก็บรักษาจำนวนมากแล้วยังจะทำให้ราคาข้าวตกตํ่าต่อเนื่องไปอีก เพราะตลาดรู้ว่ารัฐบาลยังอุ้มสต็อคอยู่จึงควร จะทยอยระบายไปเรื่อยๆ มากกว่า

ส่วนการที่ คสช.อาศัยอำนาจ ม.44 ออกคำสั่งที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าการบริหารจัดการข้าวของรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าวนั้น ผมเห็นว่านอกจากจะเป็นคำสั่งที่ขัดต่อ ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ เพราะไม่เข้าข่าย 3 กรณีที่ให้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งได้แต่อย่างใด คือ 1. เพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ 2. เพื่อส่งเสริมสามัคคีและสมานฉันท์ 3. เพื่อป้องกัน ระงับยับยั้ง ปราบปรามการบ่อนทำลายต่างๆ เพราะการบริหารจัดการข้าวเป็นการบริหารตามปรกติ ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆที่จะใช้อำนาจพิเศษเลย

นอกจากนี้ คำสั่งที่ 39/2558 นี้ ยังเป็นการซํ้าเติม "จุดอ่อน" หรือ "จุดตาย" เรื่องข้าวอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกลไกการบริหารงานของรัฐบาล เพราะคำสั่งนี้นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะทำให้ใครได้รับความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใด ก็จะอ้างว่าสุจริต และในที่สุดจะไม่ถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้เลย

ที่สำคัญคือเป็นการซํ้าเติมและลิดรอนสิทธิชาวนา เจ้าของโรงสีและโกดัง รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้คำสั่งฉบับนี้ เช่น ถ้าประมูลข้าวเสื่อมให้พลังงานได้ราคาเพียงตันละ 3,000-5,000 บาท เจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะถูกสั่งให้ชดใช้ส่วนต่างกับราคาตลาดคือตันละ 11,800-12,000 บาท ในขณะที่เจ้าของโกดังไม่ได้ร่วมตรวจสอบคุณภาพข้าวและไม่ยอมรับผลดังกล่าว ก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ส่วนชาวนาที่ถูกสั่งห้ามหรือให้ชะลอการทำนา และถูกซํ้าเติมด้วยราคาข้าวตกตํ่าก็ไมมีสิทธิเรียกร้องใดๆทั้งสิ้น

ยรรยง พวงราช
2 พฤศจิกายน 2558


เพื่อไทยขอรัฐบาลทบทวนใช้มาตรา44 คดีจำนำข้าว

ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า รู้สึกสับสนกับการที่รัฐบาลมีคำสั่งใช้ มาตรา 44 ในคดีจำนำข้าว เพราะเมื่อ 13 ต.ค.58ที่ผ่านมา รัฐบาลระบุว่าจะไม่ใช้ มาตรา44 ในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าจะไม่ใช้กลไกพิเศษในการแก้ปัญหานี้ เพราะจะทำให้ปัญหาทับซ้อนไปเรื่อย ๆ จึงรู้สึกสับสนเพราะเวลาไม่ห่างกันเท่าไหร่กลับปรับเปลี่ยนในหลักการสำคัญซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในเชิงหลักการของกฎหมายที่จะต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั่นคือ หลักนิติธรรมซึ่งสำคัญยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ตนมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง อันอาจส่งผลให้ได้รับการต่อต้านจากนานาชาติจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมายหรือไม่

"ผมเห็นว่า คดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่อยู่ในศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงทางการเมือง และที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะการจะเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ควรให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ อันจะเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งจะได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประการสำคัญที่สุดโครงการรับจำนำข้าวนั้นเหตุการณ์และห้วงเวลาไม่ได้เกิดในรัฐบาลนี้ รวมทั้งรัฐบาลก็กล่าวอยู่เนือง ๆ ว่า เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ก็ไม่น่าที่จะมากระทำการในสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ก่อ โดยมาทำหน้าที่เป็นผู้เล่นเสียเอง แทนที่จะเป็นกรรมการที่เป็นกลางดังกล่าว ซึ่งถ้าหากเห็นว่าทำผิด หรือทุจริต ก็สามารถดำเนินการส่งเรื่องให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่ก็ไม่สายเกินการณ์ ถือว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงขอฝากข้อสังเกตนี้ไว้เพื่อทบทวนในสิ่งที่รัฐบาลได้เคยสื่อสารยังสาธารณะอย่างต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ด้วยหลักนิติธรรม"นายชวลิตกล่าว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 เป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการเอาจริงกับคดีโครงการรับจำนำข้าว ว่า ไม่เหนือความคาดหมายที่นพ.วรงค์ จะออกมาเชียร์หัวหน้าคสช.ที่ใช้มาตรา44เป็นเครืองมือพิเศษมาจัดการกับโครงการจำนำข้าว แถมนิรโทษกรรรม กรรมการและเจ้าหน้าที่ไว้ล่วงหน้า เพราะนพ.วรงค์และเครือข่าย โจมตีโครงการจำนำข้าว ขัดขวางการช่วยเหลือชาวนา ผสมปนเปไปกับแผนการไล่รัฐบาลจนนำไปสู่รัฐประหารในที่สุด เป็นการสมคบคิดทำกันเป็นกระบวนการ 
 
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความจริงนพ.วรงค์สนับสนุนการประกันรายได้ และมีเรื่องการทุจริตค้างอยู่ในป.ป.ช.เหมือนกัน ดังนั้นควรออกมาเชียร์ให้คสช.ใช้ม.44 เสียด้วยจะได้เสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนอันยาวนานมากๆเสียที และจะได้ไม่เป็นการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน ที่น่าเสียใจคือหมอวรงค์และพลพรรคปชป.ชอบพูดถึงหลักนิติธรรมอยู่บ่อยๆ 
 
"การนำมาตรา 44 มาใช้ในโครงการจำนำข้าว หมอวรงค์ไม่รู้สึกเลยหรือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เสมอภาค รู้สึกว่ามีความเป็นธรรมโดยไม่ตะขิดตะขวงใจอะไรเลยหรือ อย่าลืมว่าหมอวรงค์จะต้องไปเป็นพยานศาล ควรหยุดพูดได้แล้ว เห็นบอกให้คนอื่นหยุดแต่ตัวเองพูดเอาพูดเอา"นายอนุสรณ์กล่าว

นักวิชาการTDRI ค้าน กลับมา"จำนำยุ้งฉาง"

อีกด้าน วิโรจน์ ณ ระนอง" ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เขียนเฟซบุ๊ก "Viroj NaRanong" เกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลจะนำมาตรการจำนำยุ้งฉางกลับมาใช้ มีใจความว่า

ที่รัฐบาลก็นำมาตรการจำนำยุ้งฉางกลับมาใช้ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่ามาพร้อมกับความพยายามจูงใจให้ชาวนากู้เงินเพิ่มแบบปีก่อนหรือไม่ ซึ่งผมเดาว่าไม่ เพราะคงมีชาวนาจำนวนหนึ่งเป็นหนี้จากโครงการนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว หนนี้รัฐบาลถึงมีออกมาตรการลดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ ธกส.ตั้งแต่ เม.ย.57 ซึ่งเป็นช่วงที่โครงการปีที่แล้วสิ้นสุดพอดี ส่วนโครงการปีที่แล้วได้ผลประการใดบ้าง ผมไม่เคยเห็นมีข่าวใดๆออกมาเลย และไม่ค่อยเห็นใครตามไปตรวจสอบบัญชีโครงการของรัฐบาลนี้ด้วย

จริงๆ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้พยายามทำอะไรหลายอย่างที่ต่างจากรัฐบาลที่แล้ว (เช่น ต้องการช่วยชาวนาอีสาน/เหนือที่เป็นเจ้าของที่ดิน มากกว่าชาวนาที่เช่าที่ทำกินในภาคกลาง ต้องการเปลี่ยนวิธีรับจำนำข้าวกลับไปเป็นวิธีที่ใช้ก่อนสมัย ทรท. จะให้สินเชื่อชาวนาไปเกี่ยวข้าวโดยพยายามสนับสนุนการเกี่ยวด้วยคนแทนเครื่องจักร

แต่หลายมาตรการคงจะมีปัญหามากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการจ้างชาวนามาขุดลอกคูคลองชลประทาน (ในยุคที่แม้กระทั่งการดำนาด้วยคนยังแทบหาไม่ได้ในแถวนั้นแล้ว) การรับจำนำเฉพาะยุ้งฉาง (ซึ่งหายไปจากภาคกลางแล้ว และหายากขึ้นแม้กระทั่งในอีสาน/เหนือ ซึ่งแม้กระทั่งในอดีตก็มักมียุ้งฉางไว้เพื่อเก็บข้าวไว้กินเอง ไม่ใช่เพื่อรอการขาย)

และพยายามให้ชาวนาเก็บข้าวเอาไว้ขาย โดยหวังว่าจะได้ราคาที่ดีขึ้น (ในขณะที่ข้าวภาคกลาง--ซึ่งมีข้าวหอมพันธ์ใหม่ที่เป็นคู่แข่งหอมมะลิได้ในระดับหนึ่ง--ออกสู่ตลาดมากๆ ทุกสี่เดือนหรือสั้นกว่านั้น) และการให้สินเชื่อชาวนาไปเกี่ยวข้าวโดยพยายามสนับสนุนการเกี่ยวด้วยคน (ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าเครื่องเกี่ยวนวด ก็เลยให้กู้ไร่ละสองพัน ในขณะที่ชาวนาจ้างเครื่องไร่ละไม่กี่ร้อยบาท)

มาตรการเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มต้นทุนมากกว่าลดต้นทุน (ขนข้าวกลับไปเก็บในยุ้งที่ต้องซ่อม/สร้างให้ใหญ่พอเพื่อเก็บข้าวไว้รอราคา หรือการสนับสนุนให้ใช้แรงงานคนในช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานขาดแคลนมากที่สุด กระทั่งคิวรถเกี่ยวนวดยังเต็มเลย).


กำลังโหลดความคิดเห็น