รองนายกฯ เปรียบการปราบทุจริตของไทยเหมือนเรือที่ต้องยกเครื่องใหม่ ทั้งเรื่องความล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวบุคคล และกระบวนการดำเนินการ ระบุ 3 หัวใจของการต่อต้านคอร์รัปชันคือต้องปฏิรูปกระบวนการทางกฎหมาย การบริหารจัดการ และกลไกทางสังคม
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี วันนี้ (20 พ.ย.) สำนักงาน ป.ป.ช.จัดเสวนาเรื่อง “ยกเครื่องกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันไทย” โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทำไมต้องปฏิรูปองค์กรและกระบวนการป้องกันการคอร์รัปชันของไทย” ตอนหนึ่งว่า หนึ่งในหลายเรื่องของการปฏิรูปที่จะต้องออกมาให้ได้คือ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งรัฐบาลประกาศแล้วว่า สิ่งที่ต้องปฏิรูปและขับเคลื่อนออกมาได้เร็วหรือเป็นวาระแห่งชาติ มีจำนวน 5 เรื่อง คือ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การต่อต้านการทุจริต การต่อต้านข้าราชการที่ประพฤตมิชอบ การต่อต้านยาเสพติด และการต่อต้านการกระทำใดๆ ที่ทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสีย หยุดชะงัก ไม่พัฒนา
นายวิษณุกล่าวว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระสำคัญ การที่จะมาถามว่าทำไมต้องปฏิรูปองค์กรและกระบวนการป้องกันการคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องน่าถาม เพราะการดำเนินการต่างๆ จะต้องมีการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่จะเป็นปรับปรุงหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เรียกว่าปฏิรูป วันนี้เราเปรียบการปราบปรามการทุจริตเหมือนเรือที่ต้องใช้ทุกวัน ซึ่งเรือมีความเสียหายเกิดขึ้นทุกวัน ต้องปะผุไปวันๆ ดังนั้นจึงต้องมีการจอดเรือเพื่อยกเครื่องใหม่ หรือการปฏิรูปนั่นเอง
โดยปัญหาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวันนี้ คือ ความล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งตัวบุคคลและกระบวนการ อยู่ที่ว่าเราจะแค่เปลี่ยนแปลงหรือจะปฏิรูปทั้งหมด ทำเป็นการใหญ่เพื่อเปลี่ยนวิธีคิด ทั้งนี้ การปฏิรูปทำได้ 2 วิธีคือ เมื่อมีปัญหาเข้ามาก็ไปแก้ตรงที่มีปัญหา แต่อยู่บนพื้นฐานเดิม นอกจากนั้น มีอีกวิธีคือ ทำใหม่ทั้งหมด ไม่ได้ปรับปรุงรูปแบบเก่า แต่สร้างรูปแบบใหม่ขึ้นมา
“วันนี้มีข้อกล่าวหาอยู่ เช่น เรื่องความล่าช้า ความเป็นธรรม การมีสองมาตรฐาน ลำเอียง เลือกปฏิบัติ หรือการที่มีผลงานออกมาน้อย การที่สุดท้ายคนผิดยังลอยนวลอยู่ได้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบและยังเป็นปัญหาขององค์กรต่อต้านการทุจริต ซึ่งเมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ แต่ต้องเลือกว่าจะแค่แก้ไขหรือยกเครื่องใหม่ทั้งหมด วันนี้เป็นกระแสที่ทุกคนลุกขึ้นมายกเครื่องปฏิรูปหลายเรื่อง เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ตามกระแสที่กำลังมีการปฏิรูปหลายเรื่อง วันนี้ต้องโหนกระแสกันบ้างเป็นธรรมดา”
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การปฏิรูปมี 3 เรื่องต้องทำ คือ 1. ปฏิรูปกระบวนการในทางกฎหมาย หรือกลไกในทางกฎหมาย หมายถึงมาตรการทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงเฉพาะที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งต้องมีการตรวจสอบว่ากฎหมายยังมีช่องโหว่ช่องว่างที่ไหน ตอนนี้ก็มีการแก้กฎหมายที่ระบุคดีคอร์รัปชัน รวมทั้งตั้งศาลแผนกคดีเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณา ที่จะทำให้ปัญหาความล่าช้าลดลง
2. ปฏิรูปกลไกในการบริหารจัดการ ต้องดูกระบวนการต่างๆ ว่ามีช่องว่างหรือเปิดช่องให้มีการทุจริตหรือไม่ หากมีก็ไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้ ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่กำลังจะเข้า สนช. หากมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาประกาศใช้จะปิดช่องการทุจริตได้พอสมควร และ 3. ปฏิรูปกลไกในทางสังคม คือ การสร้างความรับรู้ความเข้าใจถึงการคอร์รัปชั่น และเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมของคนให้มีจิตสำนึกเรื่องความรับผิดชอบต่อสาธารณะ หากคนไทยยังไม่มีจิตสำนึกสาธารณะหลายสิ่งหลายอย่างของฝรั่งก็เอามาใช้ไม่ได้ผล ซึ่ง 3 อย่างเป็นหัวใจในการทำงานของการต่อต้านการทุจริต