ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องผู้ค้าสะพานหัน และสะพานเหล็ก ขอถอนคำสั่งรื้อถอนแผงค้าของ กทม. ชี้ยังดำเนินเรื่องการอุทธรณ์ไม่ครบขั้นตอน
ศาลปครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่นายสุรัตน์ ลิ้มอัครอังกูร และพวกรวม 48 ราย ผู้ค้าย่านสะพานเหล็ก สะพานหัน ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ให้มีการรื้อถอนแผงค้าย่านสะพานเหล็ก และสะพานหัน
โดยศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริง กทม.โดยผู้อำนวยการเขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ ได้อาศัยอำนาจตามข้อ 1 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 ม.ค. 2502 มีคำสั่งหลายคำสั่งให้ผู้ค้าบริเวณคลองโอ่งอ่างรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ออกจากที่ดิน หรือแม่น้ำลำคลองอันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือเป็นที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลในการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน ระงับ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 เมื่อประกาศคณะปฏิวัติฯไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาใช้บังคับ โดยผู้ค้าทั้ง 48 รายต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวตามมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
การที่ผู้ค้าบางรายได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ 4 ฉบับ ก็ไม่ได้เป็นการยื่นตามมาตรา 44 ดังกล่าว จึงถือว่ายังไมได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย ก่อนยื่นฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542
ขณะที่ผู้ค้าอีกส่วนหนึ่งแม้จะยื่นอุทธรณ์ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 แล้ว แต่กฎหมายก็กำหนดให้เวลาให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ ยังไม่ได้มีการสั่งการทางกฎหมาย ผู้ค้าส่วนนี้จึงยังไม่อาจนำคดีมาฟ้องได้
ส่วนที่ผู้ค้าขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยให้สั่งระงับการรื้อถอนไว้ก่อน แม้ศาลจะเห็นว่าผู้ค้าทั้ง 48 รายจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกรื้อถอนร้านค้า แต่เมื่อการยื่นอุทธรณ์ต่อ รมว.มหาดไทย ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง และศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องจึงไม่จำเป็นต้องพิจาณาเรื่องคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา