ผู้ค้าสะพานเหล็กยื่นศาลปกครองฟ้องกรุงเทพมหานคร และ รมว.มหาดไทย ขอสั่งเพิกถอนคำสั่งรื้อถอนอาคารและร้านค้า แต่หากจำเป็นขอให้ผู้ถูกฟ้องจัดหาสถานที่ขายให้ พร้อมขอไต่สวนฉุกเฉินยุติการกระทำจนกว่าจะมีคำพิพากษา อ้างไม่ได้เป็นผู้บุกรุก ด้านศาลรับคำร้องในสารบบว่าจะรับฟ้องหรือไม่
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่ศาลปกครอง นายสุรัตน์ ลิ้มอัครอังกูร และกลุ่มผู้ค้าสะพานเหล็ก รวม 48 เข้ายื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานครผ่านเขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ ให้มีการรื้อถอนอาคารและร้านค้าตลาดสะพานหัน และสะพานเหล็ก บริเวณคลองโอ่งอ่าง และยุติการรื้อถอนเพื่อให้ผู้ค้าได้ประกอบการค้าอย่างปกติสุข แต่หากจำเป็นต้องรื้อถอนให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับผู้ประกอบการค้าโดยให้ผู้ค้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พร้อมขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว สั่งยุติการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการรื้อถอนไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี โดยศาลได้รับคำร้องไว้ในสารบบเพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องและมีคำสั่งไต่สวนตามที่ร้องขอหรือไม่
ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า ผู้ค้าไม่ได้เป็นผู้บุกรุกที่สาธารณะตามประกาศของกรุงเทพมหานคร เพราะ กทม.มีการจัดและให้สัมปทานพื้นที่ดังกล่าวกับบริษัทเอกชนเพื่อจัดเป็นตลาด การเข้ามาทำการค้าขายของผู้ค้าจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สถานะระหว่างผู้ค้ากับ กทม.เป็นเรื่องการเช่าที่ดินเพื่อทำตลาดชุมชน ถือเป็นเรื่องทางแพ่งที่ต้องไปดำเนินการทางแพ่งในศาลยุติธรรม ไม่ใช่มาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครอง การใช้อำนาจทางปกครองของ กทม.ขับไล่ผู้ค้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจของ กทม.สามารถดำเนินการบังคับคดีได้เฉพาะกับจำเลยในคดีที่มีการฟ้องคดีแพ่งเสร็จสิ้นเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น ไม่สามารถครอบคลุมมาถึงผู้ฟ้องดดีที่ยังไม่ได้มีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลยุติธรรมเลย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 ม.ค. 2502 ที่ กทม.อ้างใช้ในการออกประกาศรื้อถอน เป็นประกาศที่ไม่มีผลตามกฎหมายที่อาจจะนำมาบังคับใช้ได้ เพราะหลังมีการประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าว ได้มีการออกกฎหมายมาบังคับใช้เกี่ยวกับการจัดการที่สาธารณะประโยชน์ และคูคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับการบุกรุกที่สาธารณะแล้ว การใช้อำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวออกประกาศรื้อถอนจึงไม่ชอบ
อีกทั้ง กทม.ทราบถึงการอุทธรณ์คำสั่งของผู้ค้าแล้วแต่กลับไม่ชะลอการรื้อถอนเพื่อรอผลอุทธรณ์ ทำให้ผู้ค้าได้รับความเดือดร้อนเสียหาย การออกคำสั่งรื้อถอนไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการให้ข้อมูลข่าวสารก่อนออกคำสั่ง รวมถึงเป็นการเลือกปฏิบัติไม่มีมาตรการรองรับ ขณะที่ รมว.มหาดไทยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์โดยเร็ว หรือต้องมีคำสั่งให้มีการชะลอการรื้อถอนเพื่อคุ้มครองสิทธิ แต่กลับไม่ดำเนินการ ทำให้ผู้ค้าได้รับเดือดร้อนเสียหาย ดังนั้น เมื่อประกาศรื้อถอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกโดยอ้างกฎหมายผิดและดำเนินการผิดขั้นตอน ประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การไม่วินิจฉัยอุทธรณ์โดยเร่งด่วน และไม่มีคำสั่งให้ชะลอการรื้อถอนของ รมว.มหาดไทยจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของ กทม.เขารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ร้านค้าที่ตลาดสะพานหัน สะพานเหล็ก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดต่อสิทธิของผู้ค้าที่เป็นผู้ฟ้องคดีดัวย