สะเก็ดไฟ
ความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) ยิ่งสาวยิ่งลึก และพบว่ามีขบวนการที่ไม่ชอบมาพากลหลายโครงการที่ สสส.ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ
แม้ข่าวคราวจะเงียบหายไปบ้าง หลังจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่นำโดย “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พร้อมทีมงานมือขวา-มือซ้าย ไม่ว่าจะเป็น “คตร.-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.” ออกลุยสอบการอนุมัติงบ สสส.เกือบทุกโครงการ
แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการสอบสวนยังคงเดินหน้าอยู่ โดย ศอตช.ใช้กลไกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบงบประมาณที่อนุมัติไปแล้วของ สสส.
ข้อมูลล่าสุดที่หลุดออกมา ระบุชื่อ “เครือข่ายองค์กรงดเหล้า” หรือ “มูลนิธิวิถีสุข” ที่เข้าไปดำเนินการใช้งบ สสส.ผิดวัตถุประสงค์ โดยได้รับเงินอุดหนุนจาก สสส.มากกว่า 631 ล้านบาท ใน 25 โครงการ งานนี้ผลสอบพ่วงรายชื่อกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิใน สสส.ซึ่งมีบทบาทในทั้ง 2 องค์กร พัวพันเป็นทอดๆ
อย่าลืมว่าการอนุมัติโครงการของ สสส. มักกระทำผ่านความเห็นของคณะกรรมการ ที่จะเข้ามาตรวจสอบดูว่า โครงการ หรือกิจกรรมใดน่าสนใจ หากคณะกรรมการทั้งหมดพร้อมใจกันที่จะอนุมัติเงินให้กับโครงการใดย่อมทำได้ง่าย และการอนุมัติงบ ก็ไม่มีหน่วยงานใดมาเคยเข้ามาตรวจสอบได้เลย ซึ่ง “คีย์แมน” ขององค์กรที่ว่า เป็นคนแก้ไขกฎระเบียบการเบิกจ่ายเงินของ สสส. เพราะบังเอิญไปมีอำนาจใน สสส.ด้วย
พูดง่ายๆ ก็ “ชงเอง กินเอง”
ทำให้หลักธรรมาภิบาล และความเชื่อมโยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมีปัญหา เคยมีบรรดานักวิชาการออกมาท้วงติงหลักธรรมาภิบาลของ “คณะกรรมการ-ผู้ทรงคุณวุฒิ” ของ สสส.หลายครั้ง แต่ไม่ได้นำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตุว่า “เงิน” ที่ได้มาใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ในกรณีที่ “องค์กร” ที่รับเงินอุดหนุนจาก สสส.ออกมาแก้ต่างว่าโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนเป็นโครงการที่ดี ถึงไม่เกี่ยวข้องกับเหล้าหรือบุหรี่โดยตรง แต่หากทำโครงการที่ดีแล้วไม่ต้องสนใจว่า “เงิน” ที่ได้มาใช้ตรงตามวัตถุประสงค์และมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
คำถามคือ งบประมาณที่ สสส.อนุมัติให้หลายองค์กร ไม่ได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรณรงค์เลิกเหล้าหรือบุหรี่ แต่ สสส.มักอ้างว่าสามารถอนุมัติงบได้ หากช่วยส่งเสริมด้านสุขภาวะด้านอื่น ซึ่งช่องว่างตรงนี้ สสส.เองนำไปเป็นข้ออ้างกับ “ศอตช.-คตร.-สตง.” ว่าเป็นช่องทางที่สามารถอนุมัติงบได้ เพราะ “องค์กร” ที่ได้รับงบประมาณไปสามารถทำให้สุขภาพจิตของประชาชนดีขึ้นได้ ฟังดูแล้วเหมือน สสส.จะออกลูก “แถ” แบบมีชั้นเชิง เพื่อขอแค่เอาหน้า-เอาตัวรอดไป
ที่สำคัญ การสอบสวนต้องเจาะเน้นๆไปที่การอนุมัติที่ไม่โปร่งใส และการมีส่วนได้เสียกับผู้ได้รับงบประมาณของ “บิ๊ก สสส.” บางคนซึ่งไปเป็น “บิ๊ก” ในองค์กรที่มาของบฯ จาก สสส.ด้วย
โครงการดังเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เห็นความผิดปกติก็คือ “โครงการสวดมนต์ข้ามปี” ที่ใช้เงินไปกว่า 33 ล้านบาท แต่ไม่มีการประเมินผลว่าคุ้มหรือไม่ และทางมูลนิธิใช้เงินอย่างไรบ้าง ฟังผิวเผินก็คิดว่า สสส.น่าจะเกี่ยว แต่เมื่อลงลึกก็พบว่าเป็นงานของกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้ว สสส.ไปเกี่ยวอะไรด้วย
และยังมีข้อสงสัยว่า เครือข่าย มูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ ที่รับเงินจาก สสส.มาทำโครงการต่างๆ ได้มีการรับเงินจากมูลนิธิ หรือหน่วยงานจากต่างชาติ ในโครงการเดียวกันด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น เป็นการรับเงินสองทาง ทั้งที่ทำแค่งานเดียวเป็นช่องทางในการทุจริตอีกทางหนึ่งด้วยหรือไม่
โดยเฉพาะองค์กรที่ “บิ๊ก สสส.” เหยียบเรือสองแคม จนกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ถึงเวลาแล้วที่สังคมจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงเรื่องราวที่ถูกหมกเม็ดมานานใน สสส. เพราะที่ผ่านมาถูกปล่อยให้เป็น “แดนสนธยา” ให้บรรดาผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น “คนดี” ได้ทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยล้นฟ้ามาหลายคนแล้ว
ถึงเวลาแล้วที่ “บิ๊กตู่-บิ๊กต๊อก” จะเอาจริงกับการตรวจสอบการใช้งบ สสส.อย่าปล่อยให้ “เงินภาษี” ของประชาชนตกอยู่ในมือของคนแค่กลุ่มเดียว