xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้บัตรเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นค้านระบบจัดสรรปันส่วน ยันประมูล 4G ไม่สะดุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ แจง ไม่เกี่ยวเลือกตั้งใช้บัตรกี่ใบสะท้อนความต้องการ ปชช. ขออย่าหลงประเด็นนำไปค้านระบบจัดสรรปันส่วน ย้ำ อยู่ที่วิธีเอาไปใช้ประโยชน์ แนะ นักการเมืองวิพากษ์เนื้อหา อย่าผรุสวาทจนทำให้คนเกิดความรู้สึก หนุนตัดสิทธิ์เฉพาะคนไม่เหมาเข่ง ป้อง กรธ. เปล่ามองไทยเป็นหนูทดลอง แต่ควรมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ยัน ประมูล 4G ไม่สะดุด แม้ทีโอทียื่นศาล ปค. ยกเว้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

วันนี้ (8 พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ว่า ไม่เกี่ยวว่าใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ เพราะใช้กี่ใบสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ อย่าไปหลงประเด็นเรื่องใบเดียว หรือสองใบ ประเด็นอยู่ที่การนำคะแนนเสียงที่ได้ไปใช้อย่างไร ถ้านำไปใช้ก็สะท้อนการเคารพเสียงของประชาชน แต่ถ้าไม่นำไปใช้ก็ไม่เคารพหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวอยู่ที่การออกแบบของบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเคยมีการถกเถียงกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งการกำหนดการเลือกตั้งให้เป็นแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ดังนั้น เรื่องของบัตรเลือกตั้งไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใด อยู่ที่จะนำข้อมูลไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 1 ใบ และเลือกแบบบัญชีรายชื่อ 1 ใบ แต่นั่นก็สามารถใช้บัตรใบเดียวได้ โดยมีช่องกาทั้งเขตและพรรค ซึ่งมีผลการเลือกตั้งออกมาเหมือนกัน สิ่งที่ควรจะนำมาเถียงกัน คือ ควรจะนับคะแนนที่เขตหรือส่วนกลางมากกว่า

รองนายกฯ กล่าวว่า ระบบจัดสรรปันส่วนซึ่งนำคะแนนทั้งหมดมารวมกันจะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ แต่ก็มีวิธีอื่นที่สามารถสะท้อนได้ดีกว่านี้ แต่ตนคิดไม่ออก อย่างไรก็ตาม หากชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนถึงขนาดนั้นก็ไม่ต้องทำ เพราะอย่างการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีการสะท้อนทุกคะแนนเสียง มีการทิ้งคะแนนเหมือนกัน ส่วนที่นักการเมืองคัดค้านระบบเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไร เพราะต้อนรับทุกความเห็นอยู่แล้ว ขณะนี้ถือว่านี้เป็นบรรยากาศที่ดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า ไม่ได้ห้ามค้าน แต่หมายถึงเตือนกิริยาอาการ สำนวนในการแสดงความเห็น

“ซึ่งจากการดูเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ พบว่า นักการเมืองบางคนค้านได้ดี เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ประเภทผรุสวาทด่าทอนั้น ผมก็เข้าใจว่าเป็นจิตวิทยาในการโจมตี บางทีต่อต้านเนื้อหาไม่ได้ก็หยิบเอาจุดอย่างอื่นเข้ามาทำให้คนเกิดความรู้สึก ผมก็นักกฎหมาย ในศาลเขาก็สอนกันนะว่า เวลาจะซักพยานอีกฝ่ายหนึ่ง บางทีถามธรรมดาไม่ทำให้ได้คำตอบอะไร แต่หากลองถามให้เขาโกรธก็อาจจะได้” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะบัญญัติกรณีตัดสิทธิ์นักการเมืองโดยดูความผิดเป็นรายบุคคลมากกว่าโดยรวมของพรรค นายวิษณุ กล่าวว่า เห็นด้วย จุดนี้เป็นสิ่งที่มีการค้านเมื่อตอน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กมธ. ยกร่างฯ ซึ่งรัฐบาลได้ทำความเห็นไปว่า อย่าพยายามเหมาเข่งในลักษณะของคนที่เขาไม่ได้กระทำความผิดโดยตรง เว้นแต่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นได้ แต่ที่แล้วมาไม่มีเลย ตอนที่มีการตัดสิทธิ์นั้น เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรค ผิดเพราะไปส่องเสพเสวนาด้วย ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะผิดเพราะการกระทำ

เมื่อถามว่า บางฝ่ายมองว่า สิ่งที่ กรธ. ร่างอยู่ กำลังใช้ประเทศไทยเป็นหนูทดลอง นายวิษณุ กล่าวว่า เขายังไม่ถึงขนาดร่างอะไรเลย เขาเสนอความเห็น ซึ่งการโยนหินถามทางและการเสนอความเห็นนั่นคือการทดลองก็ได้ เพื่อจะได้ฟังว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่อย่าไปคิดว่าเป็นการทดลองเลย เพราะเมื่อจะคิดมีอะไรใหม่ ๆ ก็ต้องทดลองนำเสนอ หากสังคมยอมรับประเทศก็น่าจะทดลองใช้ เพราะคนยอมรับ แต่ถ้าหากเราไม่ทดลองก็ไม่ต้องทำอะไรเลยกลับไปลอกของเก่าในปี 2475 รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 18 - 19 ฉบับ คงไม่ต่างกัน แต่นี่ต่างกันทุกฉบับ แสดงว่า มีนวัตกรรมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่แปลก ทั้งนี้ กรธ. มีความพยายาม 2 อย่าง คือ 1. ร่างให้เข้ากันกับสภาพสังคมไทย และ 2. ไม่ขัดกับหลักการสากล

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีหากศาลปกครองรับคำร้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลว่า หากศาลปกครองรับคำร้องของสหภาพแรงงานทีโอทีจริง การประมูลจะยังเกิดขึ้นอยู่ดี เนื่องจากการยื่นฟ้องไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องระงับกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น มีกรณีเดียวเท่านั้นที่การประมูลต้องหยุด คือ ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งใครก็ตามที่คิดจะฟ้อง เขารู้เรื่องนี้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการจัดประมูลจนได้บริษัทเอกชนที่มีสิทธิในสัมปทานคลื่นความถี่ไปแล้ว แต่ภายหลังศาลตัดสินให้คลื่นดังกล่าวตกเป็นสิทธิของทีโอทีจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ถึงตรงนั้นค่อยพูดกัน เพราะต้องใช้เวลาอีกเป็น 10 ปีกว่าศาลจะตัดสิน เหมือนกรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสมัยก่อน ทั้ง กฟผ. หรือ ปตท. ที่ได้ดำเนินการจนกระทั่งขายหุ้นออกไปถึงไหนต่อไหน สุดท้ายมีคนไปฟ้องก็ต้องยุติการดำเนินการ ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่าจะยุติ และเมื่อยุติแล้วก็ต้องมีมาตรการเยียวยาตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น