xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาญ” ร้อง สปท. กทม.สร้างเขื่อนไม่ฟัง ปชช. เมินคำค้านลุยสร้างศูนย์เยาวชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.พท.ปูด กทม.ไม่สนประชาชน หน่วยงานค้านเซ็นสัญญาสร้างศูนย์เยาวชนมีนบุรี 85 ล้าน แถมสร้างองค์พระบรมราชานุสาวรีย์ ทั้งที่กรมศิลป์ทักท้วงไม่เหมาะ พร้อมยื่นหนังสือ สปท. กทม.ไม่ฟังประชาชน สร้างเขื่อนคลองแสนแสบ ใช้งบไม่เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความเสียหาย



วันนี้ (6 พ.ย.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงก่อการสร้างศูนย์เยาวชนมีนบุรีของ กทม. บนพื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติราชการที่ 9 ซึ่งสวนดังกล่าวในสมัยนั้นตนเป็นคนขอที่จะใช้พื้นที่สร้างสวนนี้ขึ้นมา และขอพระราชทานชื่อดังกล่าวโดยผ่านความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่ แต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เซ็นสัญญากับบริษัท เรืองฤทัย จำกัด ในวงเงินก่อสร้าง 85,300,000 บาท และดำเนินการตอกเสาเข็มแล้ว โดย กทม.ไม่ได้ปรึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างศูนย์เยาวชนกับประชาชนแต่อย่างใด และไม่เข้าใจในการจัดสร้างองค์พระบรมราชานุสาวรีย์ ทั้งนี้ ทางกรมศิลปากรได้ทักท้วงว่า การใช้สถานที่ดังกล่าวไม่เหมาะสม โดยมีหนังสือจากนายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ที่ วธ 0414/3704 ลงวันที่ 26 ก.ย. 2557 และนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร วธ 0414/432 ลงวันที่ 2 ก.พ. 2558 ที่ส่งไปถึง กทม.ในเรื่องขอท้วงติงจากกรมธนารักษ์ว่าให้มีการพิจารณาถึงผลกระทบต่อกฎหมายอื่น ซึ่งกรมธนารักษ์เป็นเจ้าของที่ดิน 2 ฉบับ อีกทั้ง กทม.ไม่สนใจข้อท้วงติงของสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบของที่ราชพัสดุ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียต่องบประมาณแผ่นดิน แต่จนถึงขณะนี้กทม.ก็ยังดำเนินการต่อโดยไม่สนใจข้อทักท้วงแต่อย่างใด

นายวิชาญยังได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้มารับหนังสือแทน เรื่องกรุงเทพมหานครสร้างเขื่อนในคลองแสนแสบ ซึ่งมีการก่อสร้างและเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 58 สัญญาดำเนินการ 900 วัน งบประมาณ 549 ล้านบาท จากประตูระบายน้ำบางชัน ถึงประตูน้ำแสนแสบ ระยะทางรวม 10 กิโลเมตร (ไปกลับ) ได้ทำสัญญาโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งชาวบ้านได้เคยทำหนังสือร้องเรียนไปตั้งแต่ปี 2552 ประชาชนที่ต้องการเขื่อนนั้นเพื่อป้องกันตลิ่งพัง แต่บางคนไม่ต้องการเขื่อนส่วนบ้านหรือวัดที่มีเขื่อนอยู่แล้วก็ไม่ต้องการทางเดินเท้า และทางรถจักรยาน กรุงเทพฯ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อท้วงติงจากประชาชน แต่กลับรีบเร่งดำเนินการสร้างเขื่อนซึ่งจะมีผลเสียตามมา คือ 1. ชาวบ้านได้มีหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม เพื่อระงับการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. 2. มีหนังสือถึงศาลปกครอง ให้พิทักษ์การร้องและทำการฟ้อง ทั้งกรุงเทพฯ ผู้ว่าราชการ กทม. ปลัด กทม. สำนักการระบายน้ำ กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานของ กทม. โดยให้ระงับการก่อสร้าง

ดังนั้น การจัดงบประมาณกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้องบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนของทางราชการ กลับทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพฯ และเกิดปัญหาต่อประชาชนผู้ที่อยู่อาศัย จึงสมควรที่จะชะลอและปรึกษาชาวบ้านในการก่อสร้างดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น