xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ถือค้อนทุบ 2 ศาลาวัดกัลยาณ์ จ่อรื้ออีก 22 หลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมศิลป์ ถือค้อนทุบ 2 ศาลา “เสวิกุล - ทรงปั้นหยา” วัดกัลยาณ์ “บวรเวท” เผยบังคับใช้กฎหมาย ทำตามขั้นตอน คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ และจะทยอยรื้อต่อ 22 หลัง

วันนี้ (24 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร นำทีมงานผู้รับเหมาเข้ารื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างภายในวัดกัลยาณ์ ได้แก่ ศาลาเสวิกุล และศาลาทรงปั้นหยา ซึ่งทางวัดได้มีการสร้างขึ้นใหม่โดยทำลายโบราณสถานเดิม และ ไม่ได้มีการขออนุญาตจากกรมศิลปากร จึงถือว่าผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535

ส่วนทางวัดได้นำป้ายไวนิลมาติดไว้ที่ศาลาทั้ง 2 หลัง โดยมีข้อความว่า ประกาศ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารศาลารายหลังนี้ สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของอุบาสกและอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเป็นศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนาและสมบัติของวัด ใช้เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร เพื่อการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้ยาวนานสืบไป ผู้ใดมีเจตนารื้อทุบทำลายศาสนสมบัติของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารมีความผิดทางกฎหมายทางวัดจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้นั้นทันที

โดยบรรยากาศการรื้อศาลาทั้ง 2 หลัง เป็นไปอย่างตึงเครียด มีเจ้าหน้าที่จากวัดกัลยาณ์มาคอยเฝ้าสังเกตการณ์ พร้อมเตรียมถ่ายภาพบันทึกการทำงานของกรมศิลปากรทั้งหมด ขณะที่กลุ่มชาวบ้านชุมชนวัดกัลยาณ์ ที่สนับสนุนกรมศิลปากรกว่า 50 คน ได้เข้ามาติดตามชมและส่งเสียงให้กำลังใจทีมการรื้อถอน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจ (สน.) บุปผาราม นำโดย พ.ต.อ.ณัฐพัชร์ ผดุงจันทร์ ผกก.สน.บุปผาราม และเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน และคอยดูแลความสงบอย่างใกล้ชิด

นายบวรเวท กล่าวว่า กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการตาม พ.ร.บ.โบราณสถานญ มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ซึ่งได้มีการเตือนไม่ให้มีการก่อสร้างในเขตโบราณสถาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร แต่ทางวัดกัลยาณ์ได้ดำเนินการฝ่าฝืนจนก่อสร้างแล้วเสร็จ กรมศิลปากรจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ดังกล่าว แจ้งทางวัดกัลยาณ์เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร และจนถึงวันนี้เมื่อทางวัดกัลยาณ์ไม่ทำการรื้อถอนทางกรมจึงเข้ามาดำเนินการเอง

“ใน 1 - 2 สัปดาห์ คาดว่า น่าจะดำเนินการื้อถอนเสร็จทั้ง 2 หลัง จากนั้นจะทยอยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายในส่วนที่เหลืออีก 22 หลังต่อไป ซึ่งในการรื้อ กรมศิลปากรจะดำเนินการอย่างดี ส่วนที่ยังคงใช้ได้จะนำมากองไว้เป็นสมบัติของวัด และถ้าภายใน 15 วัน ทางวัดไม่นำของเหล่านั้นไปดำเนินการใด ๆ เราก็จะนำมาดำเนินการขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ซึ่งครั้งนี้ได้จ้างผู้รับเหมารื้อศาลา 2 หลังเป็นเงิน 4 แสนบาท” นายบวรเวท กล่าว

นายบวรเวท กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ทางวัดติดประกาศผู้ใดมีเจตนารื้อทุบทำลายศาลา ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ทางวัดจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้นั้นทันทีนั้น เรื่องนี้กรมศิลปากรก็ถือว่าดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน หากทางวัดคิดว่าจะแจ้งความเอาผิดกับกรมศิลปากรก็ยินดี และปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า เราดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ หรือลุแก่อำนาจได้มีการชี้แจงบอกเป็นระยะ ส่วนเรื่องสะเทือนใจชาวพุทธ หรือจะมีประชาชนมาต่อต้านนั้นขอชี้แจงและทำความเข้าใจประชาชนทุกคนว่าโบราณสถานเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ต้องเห็นใจในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลโบราณสถานของชาติด้วย เพราะหากไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้ทุบทำลายโบราณสถานตลอดเวลาอนาคตคงไม่มีโบราณสถานเหลืออยู่ในประเทศไทย

ด้าน นายวัชรา พรหมเจริญ ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาณมิตรฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางวัดก็อยากจะพูดคุยกับกรมศิลปากรเพื่อไม่ให้มีการทุบศาลาทั้ง 2 หลัง แต่หลังจากได้รับหนังสือวัด ก็ต้องขนย้ายโต๊ะ เก้าอี้ ที่อยู่ในศาลารายดังกล่าว ซึ่งใช้สำหรับให้สามเณรเรียนได้เรียนพระปริยัติธรรม ส่วนที่กรมศิลปากรจะมีการทุบอาคารเพิ่มต่อไปอีก 22 หลังนั้น ทางวัดจะรวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่างที่กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการกับทางวัด เพื่อให้นักกฎหมายช่วยพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งการมารื้อถอนศาลารายครั้งนี้ ถือว่ากะทันหันมาก เพราะทางวัดเพิ่งได้รับหนังสือไม่นานกรมศิลปากรก็เข้ารื้อถอนแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการทุบทำลายศาลา ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนโดยรอบวัดจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กัน ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า รู้สึกเสียดายที่มีการทุบ เพราะของที่สร้างมาก็ดูดี แต่ก็รู้กันอยู่ว่าของที่สร้างมานั้นผิดกฎหมาย และก็สนับสนุนให้ทางกรมศิลปากรดำเนินการ เพราะอยากให้ทางวัดทราบว่า สิ่งที่วัดทำนั้นมันผิดกฎหมาย และที่ผ่านมา ชาวบ้านก็พยายามเรียกร้องไม่ให้ทางเจ้าอาวาสทำลายโบราณสถาน เพราะเสียดายที่โบราณสถานที่อายุกว่า 100 ปี โดยกลุ่มชาวบ้านได้เรียกร้องมานานถึง 11 ปี ก็ไม่เป็นผลจนมาถึงครั้งนี้ พร้อมบอกด้วยว่า ตั้งแต่เจ้าอาวาสคนปัจจุบันมาอยู่ก็มีการยกเลิกประเพณีอันดีงามของวัดหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการรื้อเมรุเผาศพที่ชาวบ้านร่วมบริจาคทรัพย์ช่วยกันสร้างเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท ก็ถูกรื้อทิ้ง จนปัจจุบันชาวบ้านต้องนำศพไปเผาที่วัดประยูรวงศาวาสแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก































ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น