ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถกประเด็นองค์กรอิสระ ให้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเองหรือร่วมกัน ให้ประธานมีหน่วยธุรการอิสระ กำลังดูจัดศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดนี้หรือไม่ แย้มสัดส่วน ส.ส. เขต 350 บัญชีรายชื่อ 150 บอกเป็นแนวคิดใหม่ แต่ยังไม่เคาะ ยันไม่ได้นำเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบพรรคใดมาคิด
วันนี้ (4 พ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่อมา เวลา 15.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงผลการประชุมว่า เบื้องต้น กรธ. กำหนดหลักการว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระควรเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีความอิสระ ใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรมปราศจากอคติ กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา โดยให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเองหรือกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมร่วมกัน และกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานองค์กรอิสระแต่ละแห่งมีหน่วยธุรการที่มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่หมวดเดียวกับองค์กรอิสระหรือไม่
นายนรชิต กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ได้รายงานความคืบหน้าผลการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ในส่วนของจำนวน ส.ส. ว่า ควรมีจำนวนเท่าใด ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง เบื้องต้นกรอบของจำนวนตัวเลข ส.ส. ไม่น่าจะเกิน 500 คน ส่วนสัดส่วนของส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ กรธ. กำลังหาความเหมาะสมโดยมีข้อเสนอหลากหลาย เช่น 400 ต่อ 100 หรือ 375 ต่อ 125 แต่ที่เป็นข้อเสนอใหม่ คือสัดส่วน 350 ต่อ 150 เหตุผลของแนวคิดนี้คือ เป็นแนวคิดใหม่ที่ไม่เคยใช้กันมาก่อน เวลามีใครนำระบบเลือกตั้งไปสำรวจว่าพรรคการเมืองใดจะได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนั้น ๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆออกมา เบื้องต้นที่ประชุมยังไม่เคาะว่าจะใช้สัดส่วนแบบใด แต่โดยหลักการตัวเลข ส.ส. แบบแบ่งเขตต้องมีจำนวนมากกว่า ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน
โฆษก กรธ. กล่าวอีกว่า ส่วนหลักการระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะข้อท้วงติงของการไม่นำคะแนนของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตมาคิดคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เบื้องต้นที่ประชุมหารือกันเพื่อหาวิธีการทำให้คะแนนของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งสูงสุดแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่ตกหล่นหรือเกิดความเสียเปรียบ ยืนยันว่า เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใด ไม่ใช่โจทย์ของ กรธ. ที่จะนำมาประกอบการพิจารณาเรื่องคิด สัดส่วนของ ส.ส. และระบบเลือกตั้ง