ผ่าประเด็นร้อน
“อยากขอร้องกลุ่มแกนนำว่าอย่าใส่เลย เพราะมันไม่มีประโยชน์ หากมีเรื่องเกิดขึ้นมาก็จะเกิดความวุ่นวายอีก ซึ่งผมฝากขอร้องผ่านสื่อมวลชน ทั้งนี้ยืนยันว่าทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย”
“ถามว่า หากสมมติว่ามีการนัดใส่เสื้อแดงขึ้นมาจริงจะทำอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หากมีการนัดใส่เสื้อแดง คนที่ทำ และเป็นแกนนำต้องรับผิดชอบ เพราะมีกฎหมายในการดำเนินการอยู่ พร้อมทั้งยืนยันว่า ทุกคนสามารถใส่เสื้อสีแดงได้ เนื่องจากทุกวันนี้การแบ่งแยกสีก็ไม่มีแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อไปใส่เสื้อสีแดงแล้วจะมารวมตัวกันนั้นทำไม่ได้ และยืนยันว่า ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้กลัวการแสดงออกของกลุ่มคนต่าง ๆ เพียงแต่ขอร้องว่าอย่าทำ เพราะใส่ไปก็เท่านั้น”
คำพูดข้างต้นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย่อมเป็นภาพชัดเจนแล้วว่ามีความหมายอย่างไร แม้ว่าในตอนต้นจะกล่าวในเชิงขอร้องว่าอย่านัดกันใส่เสื้อแดงออกมาสนับสนุน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่งจากโครงการับจำนำข้าว โดยมีการนัดหมายกันออกมาในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ รวมไปถึงการไม่ห้ามปรามเรื่องใส่เสื้อแดง แต่คำพูดในตอนท้ายนี่สิมีความหมาย “เข้ม ๆ” ที่ส่งสัญญาณถึงเป้าหมายว่า “หากออกมาแกนนำต้องรับผิดชอบ”
คำพูดแบบนี้แหละที่ทำให้แกนนำบางคนถึงกลับเสียวสันหลังวาบต้องถอยกรูด โดยเฉพาะบรรดาแกนนำประเภท “หัวโจก” ที่ถูกขึ้นบัญชีหมายหัวเอาไว้อยู่แล้ว และอย่าได้แปลกใจที่ได้เห็น จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. รีบออกมาพูดห้ามปรามคนเสื้อแดงว่าห้ามออกมา โดยอ้างว่า “จะตกเป็นเหยื่อ” ของพวกคนไม่หวังดีเสี้ยม อีกทั้งเป็นหลุมพรางเพื่อบิดเบือนในการดำเนินคดีกับคนเสื้อแดง รวมไปถึงการกลบเกลื่อนคดีอื่น
คำพูดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ยังกล่าวในทำนองว่า คนที่นัดหมายให้คนเสื้อแดงออกมานั้นเป็นการพูดและเคลื่อนไหวที่ไม่รับผิดชอบกับผลกระทบที่ตามมา เพราะคนที่พูดได้หลบหนีไปแล้ว
อย่างไรก็ดี การนัดหมายคนเสื้อแดงดังกล่าวเกิดขึ้นในกระแสโลกโซเชียล บอกว่า เพื่อมาให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯที่กำลังถูกดำเนินคดีจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งคดีแพ่งและอาญาอย่างไม่เป็นธรรม และสอดคล้องกับแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า การดำเนินคดีดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้คำสั่งทางการปกครอง โดยอ้างว่าไม่เป็นธรรมแทนที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาล
ขณะเดียวกัน คำพูดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ดังกล่าวที่ห้ามปรามคนเสื้อแดงไม่ให้ออกมา โดยอ้างว่าจะตกเป็นเหยื่อนั้น กลับสวนทางกับท่าทีของบรรดาแกนนำคนอื่น ๆ เช่น วรชัย เหมะ เหวง โตจิราการ โดยคนพวกหลังนี้ยืนยันว่าสามารถออกมาได้ สามารถใส่เสื้อแดงออกมาได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามเอาไว้ นอกจากจะใช้ มาตรา 44 ห้ามใส่เสื้อแดงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากคำพูดและท่าทีดังกล่าวของบรรดาแกนนำหลายข้างต้น ก็สามารถมองเห็นได้ว่าไม่ว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีคนใส่เสื้อแดงออกมาหรือไม่ก็ตาม แต่ก็น่าจะออกมาในลักษณะของการต่างคนต่างมา ไม่มีการรณรงค์ รวมทั้งมีแกนนำเดินนำหน้า เพราะคนพวกนี้ล้วนเป็น"นกรู้"ไม่มีใครกล้าเสี่ยงในบรรยากาศในสถานการณ์"พิเศษ"แบบนี้เป็นอันขาด เพราะรับรู้แล้วว่าผลที่จะตามมามันไม่คุ้มค่า
คำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ย้ำว่า “แกนนำต้องรับผิดชอบ"มันก็เป็นเสียงเข้มให้เห็นอยู่แล้ว และต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้มีแกนนำเสื้อแดงหลายคนที่เคยถูกเรียกไป “เลี้ยงข้าว” ในค่ายทหารมาแล้ว ซึ่งก่อนเดินทางกลับก็มีเสียงขอความร่วมมือตามหลังออกมาในเรื่อง “อายัดทรัพย์สิน” และให้ทบทวนความจำเรื่องการห้ามทำ"ธุรกรรมทางการเงิน” เนื่องจากเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ เรื่องแบบนี้แหละที่ทำให้นึกถึงทีไรเป็นต้องขนหัวลุกยิ่งกว่าโดนขังเสียอีก เพราะอย่าลืมว่าหลายคนเพิ่งมีโอกาสได้ใช้เงินในบัญชีหลังเกิดเหตุการณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 เป็นต้นมา ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ต้องเห็นใจกันบ้าง
ขณะเดียวกัน ด้วยคำพูดและท่าทีที่สวนทางกันของแกนนำคนเสื้อแดงมันก็ทำให้มองในมุมขัดแย้งไม่เป็นเอกภาพกันภายในได้เหมือนกัน แต่ในความหมายที่ว่า “แย่งกันชิงดีชิงเด่น” หรือแย่งกันมายืนในแถวหน้าได้ใกล้ชิด เพราะในความเป็นจริงแล้วคนพวกนี้ไม่ได้เป็น “ระดับเกรดเอ” สำหรับครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร มาก่อน เมื่อเทียบกับคนที่รับใช้ใกล้ชิดมาตั้งแต่แรก คนพวกนี้บางคนมีที่มาแค่นักเลงบ้านนอก ไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า แต่เพิ่งจะมาโดดเด่นมีคนรู้จักจาการใส่เสื้อแดงชุมนุมมาในช่วง 4-5 ปีก่อนเท่านั้น ดังนั้นในระดับแกนนำคนเสื้อแดงตามพื้นฐานแล้วก็ต้องบอกว่าอยู่ใน “ระนาบเดียวกัน” ไม่ยอมรับกันในทีอยู่แล้ว
และที่สำคัญ ในการชุมนุมเคลื่อนไหวทุกครั้งย่อมมีค่าใช้จ่าย ส่วนจะมีความคาดหวังในเรื่อง “ค่าหัวคิว” หรือไม่ มีค่าอำนวยความสะดวกกันอีกหรือไม่ไม่มีใครกล้ายืนยัน และหลายครั้งก็เคยมีรายการ “ขบเหลี่ยม” ให้เห็นมาแล้ว
แต่สำหรับในมุมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แล้วต้องบอกว่า “ซีเรียส” และเมื่อซีเรียสก็ย่อมต้องไม่มีทางให้เกิดการเคลื่อนไหวที่หมิ่นเหม่ในลักษณะนั้นเป็นอันขาด ดังนั้นถึงต้องมีการส่งสัญญาณเตือนออกมาดัง ๆ ให้เห็น แต่เชื่อหรือไม่ว่าในเบื้องหลังคำเตือนนั้นอาจจะมีอะไรที่มากกว่านั้น เราถึงได้เห็นท่าทีของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่กลบเกลื่อนไปอีกทางก็ได้ !!