xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ผิดคิวเก้าอี้เลขาฯ สภา ไอ้เสือถอย... หรือแค่รอเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับทีมงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เต็มไปด้วยมือชั้นอ๋อง โดยเฉพาะในแง่มุมทางกฎหมาย

เมื่อกลางดึกของวันที่ 18 ตุลาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 38/2558 แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับที่ 37/2558 โดยให้ยกเลิกข้อ 3 ของคำสั่ง เรื่องการกําหนดตําแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยถือว่า นายนัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตําแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาก่อน และข้อ 2. ตามที่คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้นายนัฑ ผาสุข ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการวุฒิสภาแล้วนั้น ให้สำนักงานวุฒิสภาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

เมื่อกลับไปพลิกดูคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2558 ลงวันที่ 15 ตุลาคม เรื่อง การกําหนดตําแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง มีสาระสำคัญในการให้ นายจเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และให้ นายนัฑ ผาสุข พ้นจากตําแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

นั่นหมายความว่า คำสั่งก่อนหน้านี้ที่ระบุให้นายจเรพ้นจากตำแหน่งเลขาฯ ถือเป็นคำสั่งที่สมบูรณ์ แต่การแต่งตั้งชื่อของนายนัฑนั้นถือเป็นโมฆะ

สำหรับการปลดนายจเรนั้นถือว่าค่อนข้างเซอร์ไพรส์พอสมควร ในวันที่ประกาศออก เจ้าตัวยังปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาฯแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ พอช่วงกำลังกินข้าวกลางวันอยู่ดี ๆ กลับโดนคำสั่งฟ้าผ่า ทำเอาข้าราชการระดับสูงวิ่งกันให้วุ่น พร้อมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่า เหตุที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากความล่าช้าในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

รวมไปมีปัญหาในถึงเรื่องมีข้าราชการสภาผู้แทนราษฎร นำดินจากพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ไปถมในพื้นที่ของเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ ทั้ง ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้บริจาคดินดังกล่าวให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อนำมาใช้ในการกิจการของมูลนิธิ

เข้าข่ายทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งขัดกับแนวทางของ คสช. ชัดเจน

โดยก่อนหน้านี้ ในสมัยที่ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาฯสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้มีการเปิดเผยเบาะแสที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชันอย่างมากมาย จนกระทั่งนายสุวิจักขณ์ถูกปลดจากตำแหน่งทันทีที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ แต่เมื่อนายจเรเข้ามารับตำแหน่งแทนการสอบสวนคดีการทุจริตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปอย่างล่าช้า และมักจะอ้างเพียงว่า อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน

ทำให้นายจเรตกพุ่มเดียวกับนายสุวิจักขณ์ จึงเป็นสาเหตุที่ผู้มีอำนาจเห็นว่า ควรดึงคนจากฝั่งวุฒิสภามาทำหน้าที่ การตรวจสอบน่าจะเดินหน้าได้ดีกว่าคนใน

แต่กระนั้น ชื่อของนายนัฑ ผาสุข ก็สร้างข้อกังขาให้กับแวดวงข้าราชการในสภาไม่น้อยว่า เขาคือใคร? เส้นใหญ่มาจากไหน? หรือคำถามที่ว่า เขาคือเด็กของใคร? ที่สามารถย้าย “ข้ามห้วย” จากฝั่งวุฒิสภา มากุมอำนาจฝั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ ท่ามกลางกระแสต่อต้านของข้าราชการที่นัดแนะพร้อมแต่งชุดดำ ต่อต้านคำสั่งที่เกิดขึ้น

ส่วนนายจเรก็ก้มหน้ารับชะตากรรม เก็บข้าวของตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา และพูดผ่านสายโทรศัพท์เพียงว่า “ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผมเป็นข้าราชการไม่มีปัญหา เมื่อมีคำสั่งออกมาอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม”

พอถามจี้จุดถึงสาเหตุที่ถูกโยกย้ายในครั้งนี้มาจากเรื่องใด นายจเร ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ก่อนวางสายโทรศัพท์ว่า “แค่นี้นะครับ”

ส่วน นายนัฑ ผาสุข ก็แสดงความพร้อมในการรับตำแหน่งใหม่ และไม่สะทกสะท้านต่อแรงต่อต้านเท่าไรนัก พร้อมยังแนะไปถึงข้าราชการด้วยว่าการแสดงออกทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบข้าราชการรัฐสภาที่กำหนดไว้

“ผมไม่ได้แต่งตั้งตัวเองขึ้นมา และอยากให้รู้ว่าการมาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช่จะมีความสุขสบาย กลับกัน นี่คือภารกิจที่หนักใจที่สุดสำหรับผม เนื่องจากจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่คืบหน้า ทั้งเรื่องการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ตลอดจนการเดินหน้าตรวจสอบการทุจริตที่ยังล่าช้า ผมไม่อยากได้รับการแสดงความยินดี แต่อยากขอกำลังใจเท่านั้น” ข้อความเหล่านี้คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่านายนัฑพร้อมที่จะรับตำแหน่งนี้อย่างเต็มที่

ซึ่งกระแสต่อต้านยังกระเพื่อมอยู่ตลอดในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากวิเคราะห์แล้วจะพบว่า นายนัฑกำลังประสบกับปัญหาการเติบโตในสายงานตัวเอง ที่ถูกจับไปดองไว้ที่ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย โดยทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนายนัฑน่าจะสามารถขึ้นไปยึดเก้าอี้รองเลขาฯ ได้แล้วจากตำแหน่งระดับของข้าราชการ แต่กลับยังไม่ไปถึงไหน

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งยอมรับเองว่าเป็นผูเสนอให้นายนัฑเข้าสู่บัลลังก์ของฝั่งสภาล่าง ก็มีกระแสข่าวว่าสนิทมักคุ้นกับนายนัฑอยู่ไม่น้อย

จนเมื่อมีคำสั่ง คสช. เปลี่ยนแปลงลงมา หลายกระแสจึงวิจารณ์ว่า ทางฝั่งวุฒิสภาได้ดำเนินการตามกระบวนการทูลเกล้าฯส่งชื่อนายนัฑไปดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ วุฒิสภา ทำให้การแต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช.อาจจะซ้ำซ้อนได้

สิ่งที่คาดการณ์ก็ได้รับคำเฉลย เมื่อ นายพรเพชร ได้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้เสนอให้แต่งตั้งนายนัฑไปดำรงตำแหน่งแทนนายจเร เพราะคิดว่ามีความเหมาะสม แต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบจากการย้ายข้าราชการข้ามฝั่ง ซึ่งที่สุดแล้วก็ได้ปรึกษากับนายกรัฐมนตรี จึงเป็นที่มาขอการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ประมุข สนช.ระบุว่า สาเหตุที่นายจเรถูกปลดพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากได้รับการร้องเรียนปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้าจนเกิดความเสียหาย โดยยกตัวอย่างปัญหาที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างแจ้งว่า การส่งมอบที่ดินโรงเรียนโยธินบูรณะล่าช้าไปถึง 4 เดือน ด้วยความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนทุจริตภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ดำเนินการตรวจสอบไปอย่างล่าช้าเช่นกัน

ล่าสุด บทสรุปของเรื่องนี้ก็คือ การให้ นางจันทร์เพ็ญ อานามวัฒน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอาวุโสสูงสุด รักษาการแทนไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่

บทสรุปของเรื่องนี้ ผู้คว่ำหวอดในสภาคาดว่าหลังจากกระบวนการแต่งตั้งนายนัฑเป็นรองเลขาฯ วุฒิสภาเสร็จสิ้น ก็จะมีการโยกย้ายมานั่งในตำแหน่งที่นายพรเพชรล็อกไว้ให้แล้วนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น